Digital Nomad คือ ? คนเร่ร่อนรุ่นใหม่ทำอาชีพอะไรกัน

เรื่องสัพเพเหระ ในบทความนี้ ผมจะพาไปรู้จักกับผู้คนกลุ่มหนึ่งที่มีวิถีชีวิตผิดแผกแตกต่างจากผู้คนทั่วไป โดยเรียกขานพวกเขาว่า Digital Nomad  พวกเขาคือใคร ทำอาชีพอะไรกัน ซึ่งถ้าเราแยกเป็น 2 คำ จะได้ความหมายในเชิงยุคสมัยที่แตกต่างกันเป็นอย่างมากคือ Digital ที่อ่านว่า ดิจิทัล คำนี้ดูเหมือนว่าจะล้ำยุค ล้ำสมัย ซึ่งชาวบ้านอย่างเรา ๆก็จะนึกถึงว่า ยุคดิจิทัล นาฬิกาดิจิทัล หรือ ทีวีดิจิทัล เหล่านี้เป็นต้น ในขณะที่คำว่า Nomads นั้นถ้าแปลกันตรง ๆก็หมายถึง คนพเนจร หรือคนเร่ร่อน คนไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ค่ำไหนนอนนั่น ซัดเซพเนจรไปเรื่อย ๆ ทำให้นึกไปถึงชนเผ่าผีตองเหลืองที่เป็นข่าวโด่งดังในประเทศเมื่อหลายสิบปีก่อน ที่นับวันจะมีคนเหล่านี้ลดน้อยถอยลงไปทุกที จนอาจทำให้เด็กรุ่นใหม่ ๆ ไม่รู้จักก็เป็นไปได้ แล้วคำ 2 คำนี้มารวมกันได้อย่างไร มีความหมายว่ากระไร มีผู้คนแบบนี้อยู่จริงหรือ คุณเชื่อหรือไม่ว่า ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่า โลกของเราใบนี้ ภายใน 20 ปีข้างหน้านั้นจะมีพลเมืองที่เป็น Digital Nomads มากกว่าหนึ่งพันล้านคน ตามมาดูกันครับ โลกมันเปลี่ยนแปลงเร็วเหลือเกิน

 
Digital Nomad คือ ? คนเร่ร่อนรุ่นใหม่ทำอาชีพอะไรกัน
Digital Nomad คืออะไร
ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจกับคำว่า digital กันเสียก่อน คำนี้ถ้าแปลเป็นไทยเขาแปลว่า เชิงเลข ซึ่งไม่ได้สร้างความเข้าใจเพิ่มขึ้นมาได้เลย ทำให้งุนงง สงสัยเสียมากกว่า ที่เข้าท่าหน่อยเขายกตัวอย่างว่ามันเป็น เลขโดด หมายถึงเลขตัวเดียว 0 ไปจนถึง 9 ทำให้พอเห็นภาพอยู่บ้างว่ามันต้องเกี่ยวข้องกับ ตัวเลข ตัวใดตัวหนึ่ง ถ้าเปลี่ยนสถานะของคำไปเป็น คำคุณศัพท์ ที่ฝรั่งเขาเรียกว่า adjective เขาก็แปลออกมาว่า ซึ่งรับส่งข้อมูลโดยใช้ตัวเลข นั่นหมายความว่าถ้าเรามีนาฬิกาสักเรือนหนึ่ง ซึ่งรับส่งข้อมูลด้วยตัวเลข เราก็จะเรียกมันว่า นาฬิกาดิจิตอล แน่นอนว่าผลิตภัณฑ์ดิจิตอลทั้งหลายเหล่านั้นมี คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค และแลปทอปรวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน ส่วนเรื่องลึก ๆว่าเขาใช้เลขอะไร เข้ารหัสอย่างไร เอาไว้โอกาสหน้าเถอะนะครับ เพราะมันยังไม่ใช่จุดประสงค์ของบทความ
ส่วนคำว่า Nomad ที่แปลว่า ร่อนเร่ พเนจร อยู่ไม่เป็นที่ ถ้าเป็น Nomad คำโดด ๆคำเดียวนั้นก็จะเป็นอย่างที่เราเข้าใจ ว่าคงเป็นคนนอนใต้ทางด่วน สวนสาธารณะ สนามหลวง หรือป้ายรถเมล์ แต่ถ้าเมื่อใดนำ 2 คำมารวมกันเป็น Digital Nomad ก็กลายเป็นว่าคนพวกนี้จะพเนจรท่องเที่ยวเรื่อยไป อยู่ตรงนี้สักเดือนหนึ่ง อยู่ตรงนี้สักสองเดือน ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่า คนพวกนี้ไม่มีบ้านนะครับ มันมีครับแต่มันไม่อยากอยู่ (มั้ง) ปีหรือสองปีก็อาจกลับไปหาพ่อ หาแม่มันสักหนหนึ่ง บางคนไปพเนจรนานจนทางการไม่ต่อบัตรประชาชนให้ก็มี บรรดา Digital Nomad ทั้งมวลถ้าค้นพบว่าจุดหมายปลายทางอยู่ที่ไหนแล้ว ก็ใช่ว่าจะย่ำต๊อกไป พวกเขาจะเดินทางด้วยยานพาหนะที่เหมาะสม รถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน พอถึงจุดหมายแล้วก็หาที่พักโดยการเช่าบ้าน โรงแรม รีสอร์ต หรือบังกะโล แล้วแต่สถานที่ครับ เช่ากันนานเป็นเดือน เป็นปีก็มี แล้วพวกนี้เขาเอาตังมาจากไหนกัน ไม่มีงานมีการทำรึ หรือว่าเป็นลูกคนรวยเศรษฐีกล้วยทอด ก็ไม่จริงเสียทั้งหมด เพราะ Digital Nomad ที่แท้จริงต้องมีอาชีพ มีรายได้ที่เกิดจากการทำงานผ่านอุปกรณ์ digital ซึ่งก็คงมีรายได้ดีไม่น้อยทีเดียว จึงสามารถท่องเที่ยวพเนจรได้เป็นเวลานาน ๆ
คุณพอจะมองภาพออกบ้างหรือยังว่าพวกเขาคือใคร สรุปก็คือว่า Digital Nomad คือคนที่อาศัยประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเอง โดยสามารถ พักผ่อน ท่องเที่ยวไปได้ทุกที่ในโลก และทำงานด้วย laptop, smartphone, digital camera และ WiFi โดยไม่ต้องนั่งอยู่ใน office เลย เป็นมนุษย์เผ่าพันธุ์ใหม่ที่เร่ร่อนไปในทุกที่ที่อยากจะไป ทำงานตรงไหนก็ได้ที่อยากจะทำ ดูเหมือนมีชีวิตอิสรเสรี แต่ที่สำคัญก็คือ ต้องมีวินัยในงานที่ตัวเองรับผิดชอบอยู่
Digital Nomad คือ ? คนเร่ร่อนรุ่นใหม่ทำอาชีพอะไรกัน
คุณอาจสงสัยว่ามีอาชีพไหนกันที่สามารถทำงานได้พร้อมกับท่องเที่ยวไปด้วย ความจริงก็คือมันมี หรือจะมีอาชีพเหล่านี้อยู่จริง ๆ เพียงแต่ว่าในช่วงแรก ๆคุณต้องทำงานอย่างหนักมาก และเมื่อสิ่งที่คุณทำได้ผลิดอก ออกผลแล้ว จนถึงระดับหนึ่งคุณก็สามารถใช้ชีวิตแบบเหล่า Digital Nomad ได้อย่างเต็มตัว มาลองดูกันดีไหมว่ามีอาชีพไหนบ้างที่จะทำให้คุณสามารถร่อนเร่พเนจรไปได้ทั่วทุกมุมของโลกที่ internet เข้าถึง
สิ่งที่จำเป็นสำหรับคนที่จะเป็น Digital Nomad ได้อย่างยั่งยืนคือ รายได้ที่มาจากการทำงานผ่าน internet ที่มักจะมาจากหลาย ๆทาง ดังนั้นคนพวกนี้มักจะมีความรู้ดีในงานที่เฉพาะเจาะจงด้านใดด้านหนึ่ง สามารถที่จะรับงานบริการ และส่งงานนั้นผ่านระบบ online ได้ หรือไม่ก็ต้องเป็น Digital Nomad ที่มีสินค้าเป็นของตัวเอง แน่นอนว่าพวกเขาต้องผ่านการทำงานมาอย่างหนักเพื่อพัฒนา และประชาสัมพันธ์สินค้า หรือบริการของเขาจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากพอสมควร ซึ่งรายได้ก็จะแตกต่างกันไปตามประเภทของงานบริการ หรือสินค้า
Digital Nomad คือ ? คนเร่ร่อนรุ่นใหม่ทำอาชีพอะไรกัน
Digital Nomad ทำอาชีพอะไรกัน
1. หาเงินจากการสร้าง blog หรือ website เป็นของตัวเอง
การทำ blog หรือ website เป็นเรื่องที่ง่ายมากในปัจจุบัน ที่ยากก็คือ การทำบทความคุณภาพดี ที่จะสามารถดึงดูดผู้คนให้เข้ามาเยี่ยมชม หรืออ่านบทความของคุณ เมื่อใดก็ตามที่ blog หรือ website ของคุณมีผู้คนมากหน้าหลายตาเข้ามาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถึงตอนนั้นก็จะเป็นการสร้าง traffic ให้กับ blog หรือ website ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร ช่วงนี้นี่เองที่คนที่ฝันอยากจะเป็น Digital Nomad จะเริ่มหารายได้พื้นฐานจากการ
::: ติดโฆษณาอาจเป็น Google Adsense หรือจากที่อื่น ๆ รวมทั้งโฆษณาส่วนตัวของคุณเอง
::: ขายผลิตภัณฑ์ดิจิทัลของคุณเองเช่น e-book หรือ application ที่คุณสร้างมาจากความ         เชี่ยวชาญส่วนตัว
::: รับงาน review สินค้า บรรดา blogger ดัง ๆที่มีผู้คนให้ความเชื่อถือสามารถรับงานเหล่านี้ผ่านการเขียนบทความ หรือ ทำวีดีโอรีวิวสินค้าลงในยูทูป
::: สมัครเป็นนายหน้าขายสินค้าให้กับ website ใหญ่ ๆ อย่าง amazon, alibaba, ebay, lazada จะมีรายได้จากค่าคอมมิสชั่น
::: กรณีที่คุณมีความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งเป็นอย่างดี คุณอาจสร้างบริการ เช่นรับเป็นที่ปรึกษาทางด้านบัญชี  กฎหมาย หรือด้านเทคนิคเฉพาะทางบางอย่างที่คุณถนัด
 2. เป็นนักเขียนอิสระ
เป็นงานฟรีแลนซ์ ที่คุณสามารถทำได้ระหว่างการท่องเที่ยว คุณอาจจะเขียนบทความเกี่ยวกับการสถานที่ท่องเที่ยวที่คุณไป หรือถ้าคุณมีความเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งเป็นการเฉพาะ เช่นคอมพิวเตอร์ บัญชี กฎหมาย การตลาด ก็รับงานเขียนบทความเหล่านี้ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด หากว่าคุณพัฒนางานเขียนจนเป็นที่ยอมรับ มูลค่าบทความของคุณก็จะมีค่าเพิ่มมากขึ้น ในเมืองไทยมีอาจารย์นักการตลาดบางท่านสามารถทำรายได้ถึง 5000 บาทต่อบทความ ซึ่งใช้เวลาในการเขียนไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง
3. ดีไซน์เนอร์
กรณีที่คุณมีความสามารถทางด้าน graphic design หรือ web design คุณก็สามารถรับงานด้านการออกแบบ website, blog, logo, packaging, เสื้อผ้าเครื่องประดับ ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวไปตามที่ต่าง ๆ โดยคุณสามารถประชาสัมพันธ์บริการของคุณผ่าน blog หรือ website ส่วนตัว และบน social page ต่าง ๆที่คุณสร้างขึ้น
4. ขายผลิตภัณฑ์ดิจิทัล
กรณีที่คุณมีความสามารถเฉพาะทางเช่น เคยทำงานเป็น graphic designer, programmer, engineer, นักกฏหมายนักบัญชีนักเพาะพันธ์ปลาแม่ครัว หรือแม้แต่การเป็นเกษตรกร ทำไร่ ทำนา มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีเคล็ดลับที่สามารถแก้ปัญหาให้กับผู้ที่สนใจทั่วไปได้ คุณอาจทำพิมพ์เขียว แสดงวิธีการ ขั้นตอน ในงานนั้น ๆ แล้วเขียนเป็น e-book ขายก็ได้ กรณีที่คุณมีความสามารถด้านการเขียนโปรแกรมก็อาจทำ software ขายได้เช่นกัน ถ้าคุณเป็นคนไม่ชอบงานเขียนแต่คุณมีความสามารถในการพูด และสอนในสิ่งที่คุณเชี่ยวชาญ คุณควรทำเป็นวีดีโอ ( video training course ) คุณอาจเปิด course สัมมนาออนไลน์ ที่เรียกว่า webinar ให้ผู้ที่สนใจจ่ายเงินมาเพื่อเข้าชมหัวข้อที่คุณเชี่ยวชาญ เหล่านี้เป็นต้น
5. เป็นพันธมิตรการตลาดกับ shop online ( affiliate marketing )
คือการที่คุณไปหยิบเอาสินค้าจากร้านค้าออนไลน์ใหญ่ ๆ แล้วนำมาโปรโมทผ่านเว็บไซด์ของคุณ โดยที่ลูกค้า click link จาก website ของคุณเข้าสู่หน้า website ของร้านค้าออนไลน์นั้น แล้วทำการซื้อสินค้า คุณจะได้ค่าตอบแทนเสมือนเป็นนายหน้าขายสินค้าจากร้านค้าออนไลน์นั้น โดยที่ลูกค้าไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่มเติมเลย คือเขายังคงจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าในราคาปกติเช่นเดิม ซึ่งร้านค้าออนไลน์ที่ยินดีต้อนรับนายหน้ามีมากมาย ที่ดัง ๆก็คงเป็น amazon, clickbank, clicksure lazada เป็นต้น
Digital Nomad คือ ? คนเร่ร่อนรุ่นใหม่ทำอาชีพอะไรกัน
6. เปิดร้านค้าออนไลน์ของตัวเอง
หากคุณเป็นเจ้าของสินค้า หรือบริการ คุณควรใช้ website ของคุณประชาสัมพันธ์ เพื่อดึงดูดผู้ชมให้เข้ามาใช้บริการ หรือจับจ่ายในสินค้าของคุณ โดยคุณมีอำนาจจัดการบริหารทั้งหมดด้วยตัวของคุณเอง
แต่หากคุณไม่มีสินค้า หรือบริการเป็นของตนเอง ในปัจจุบันนี้มีระบบการตลาดที่เรียกว่า drop-shipping ขึ้นมาแล้ว คือ เจ้าของผลิตภัณฑ์อนุญาตให้คุณเปิดหน้าร้านออนไลน์ของคุณเองขึ้นมา จากนั้นคุณก็ไปเลือกผลิตภัณฑ์คุณภาพดีที่คุณคิดว่าเป็นที่ต้องการ มาทำการโปรโมทบนหน้าร้านออนไลน์ของคุณ โดยที่คุณสามารถตั้งราคาสินค้าด้วยตัวของคุณเอง ( บวกกำไรเพิ่มไป ) โดยอาจมีกฏเกณฑ์จากเจ้าของผลิตภัณฑ์บ้าง ที่จะไม่ให้ตั้งราคาสินค้าต่ำกว่าที่กำหนด เพราะจะไปตัดราคากับ drop-shipping รายอื่น ๆ หากมีการสั่งซื้อสินค้าจากผู้เข้าชมร้านค้าออนไลน์ของคุณแล้ว คุณจะต้องทำการจ่ายเงินค่าสินค้าให้กับเจ้าของผลิตภัณฑ์นั้นเสียก่อนโดยหักกำไรส่วนต่างที่คุณบวกเอาไว้แล้วมาเก็บไว้ งานส่วนที่เหลือจะเป็นหน้าที่ของฝ่ายเจ้าของผลิตภัณฑ์นั้น ที่จะต้องทำการบรรจุหีบห่อ และจัดส่งให้ลูกค้าด้วยความรวดเร็ว
7. กวดวิชาออนไลน์
กรณีที่คุณทำอาชีพเป็นอาจารย์อยู่ในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย คุณสามารถทำ course กวดวิชาสำหรับนักเรียนวัยต่าง ๆ เช่น คอร์สเตรียมสอบเข้า ม. 1 หรือ คอร์สเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย ในรูปแบบ video tutoring หรือ live สด สลับกันไปก็ได้ครับ
8. นักถ่ายภาพ
กรณีที่คุณเป็นนักถ่ายภาพที่มีความสามารถมาก่อน ระหว่างที่คุณท่องเที่ยวอยู่นั้น คุณสามารถที่จะถ่ายภาพ สถานที่ท่องเที่ยว วิถีชีวิตผู้คน สัตว์ หรือสิ่งอื่น ด้วยเทคนิคพิเศษเฉพาะตัว โดยคุณสามารถทำรายได้จากการขายภาพถ่ายของคุณทางออนไลน์ คุณสามารถแสดงภาพถ่ายบน website ของคุณ บรรยายภาพ และบอกเคล็ดลับดี ๆสักเล็กน้อย แต่ไม่ได้บอกทั้งหมด ถึงตอนนั้นผู้ชมที่สนใจเทคนิคการถ่ายภาพ จะทำการสอบถามเข้ามา จุดนี้แหละครับที่คุณจะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ดิจิทัล เป็นของตัวเองขึ้นมาได้ เช่น แคตาล็อกภาพถ่ายที่คุณไม่ได้เผยแพร่ที่ไหนมาก่อน  e-book เกี่ยวกับเทคนิคการถ่ายภาพที่คุณอุบเอาไว้ไม่ได้บอกใน website หรือเปิด course สอนการถ่ายภาพเป็น การถ่ายภาพเบื้องต้น การถ่ายภาพชั้นสูง ถึงตอนนี้คุณจะมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องในระหว่างการท่องเที่ยวของคุณ
9. นักพัฒนา website
นักพัฒนาเว็บไซท์ มืออาชีพทุกวันนี้อาจไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่ในสำนักงานอีกต่อไป สิ่งจำเป็นที่คุณต้องมีก็เพียง lap-top, WiFi คุณภาพดี และกาแฟกลิ่นหอมสักถ้วย ตรงมุมไหนของโลกก็ได้ ถ้าปํญหาอยู่ที่การติดต่อสื่อสารกับลูกค้า หรือแม้แต่ผู้ร่วมงานของคุณ การใช้ e-mail และ Skype จะช่วยคุณได้มากทีเดียว แต่ว่าถ้าคุณต้องการจะท่องเที่ยวให้ได้มากพอ คุณจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมทางด้านความรู้ ความชำนาญ ในงานที่คุณดำเนินการอยู่นี้ เพื่อสามารถที่จะโต้ตอบ หรือแก้ปัญหาจากที่ไกล ๆ ด้วย internet
10. ที่ปรึกษา
หากคุณพบว่าข้อมูลของคุณมีประโยชน์ เป็นสิ่งที่สามารถแก้ปัญหาให้กับผู้คนทั่วไปได้ และเป็นที่ต้องการของตลาด คุณสามารถแบ่งปันความรู้นี้โดยขอเป็นค่าตอบแทนรายชั่วโมง หรือสัปดาห์ หรือเป็นเดือน เป็นปี โดยให้คำแนะนำได้ในหลายรูปแบบ ทั้งแบบกลุ่มผ่าน Facebook ที่ต้องสมัครสมาชิกโดยมีค่าใช้จ่าย หรือแนะนำแบบส่วนตัวผ่าน Skype เช่นการเป็นเทรนเนอร์ส่วนตัวเกี่ยวกับการออกกำลังกายการลดน้ำหนักหรือเป็นที่ปรึกษาทางการเงินที่ปรึกษาทางด้านการสุขภาพที่ปรึกษาทางด้านการใช้ชีวิต เป็นต้น
Digital Nomad คือ ? คนเร่ร่อนรุ่นใหม่ทำอาชีพอะไรกัน
11. นักถ่ายภาพเคลื่อนไหว ( Videographer )
หากว่าคุณมีงานอดิเรก หรือมีอาชีพเกี่ยวกับการรับงานถ่ายวีดีโอ และคุณเชื่อมั่นว่าฝีมือการถ่ายวีดีโอของคุณนั้นยอดเยี่ยมเป็นที่กล่าวขานกันอย่างกว้างไกล คุณควรเสริมทักษะทางด้านการถ่ายภาพยนตร์ ( Cinematography )เพิ่มเติมลงไปอีกสักหน่อย เช่น การวางแผนให้มีลำดับขั้นตอนการนำเสนอ มีการเขียนสคริป บทบรรยาย การตัดต่อวีดีโอ การแต่งวีดีโอ การเกลี่ยสี กราฟฟิคพิเศษ การเน้นศิลปะ อารมณ์ และองค์ประกอบภาพ ใส่เพลงประกอบ ให้วีดีโอของคุณมีคุณภาพเทียบเท่าการทำภาพยนตร์ เน้นศิลปะ และอารมณ์ งานเหล่านี้คุณสามารถทำได้ระหว่างการท่องเที่ยวไปในโลกกว้าง คุณอาจขายงานถ่ายวีดีโอให้กับเจ้าของกิจการตามแหล่งท่องเที่ยวนั้น ๆ หรือไม่ก็นำ clip วีดีโอสั้น ๆ upload ลงบน youtube, IStockPhoto, Shutterstock เพื่อประชาสัมพันธ์ และรับงานการถ่ายวีดีโอระดับมืออาชีพ นี่เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับ Digital Nomad
12. นักแปลอิสระ
หากว่าคุณมีความสามารถทางด้านภาษาเป็นอย่างดี และมีทักษะมากกว่าสองภาษาแล้ว คุณสามารถรับงานแปล ไม่ว่าจะเป็นนิยาย เอกสารสำคัญ บทความเฉพาะทางที่ประกอบด้วยศัพท์เทคนิค หรือภาษากฎหมาย เหล่านี้มีผู้ที่พร้อมจะว่าจ้างคุณ โดยการรับส่งงานทางออนไลน์ ผมไม่อยากแนะนำให้บรรดาว่าที่ Digital Nomad ที่สนใจจะทำอาชีพนี้ใช้ google translate ช่วยในการแปลเพราะว่าบางทีจากเรื่องหนึ่งก็กลายไปเป็นอีกเรื่องหนึ่งได้ไม่ยากนัก คุณใช้เครื่องมือนี้เป็นแนวทางได้ แต่การแปลภาษาต้องใช้ศิลปะพอสมควร
13. เลขานุการออนไลน์
ปัจจุบันนี้มีธุรกิจออนไลน์ที่มีขนาดใหญ่ และมีบางธุรกิจก็กำลังเติบโตใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ การบริหาร จัดการในบางส่วนของ website จะถูกว่าจ้างให้กับผู้เชี่ยวชาญอิสระมาทำแทน เช่นการ update และการจัดการเนื้อหาบน website, งานลูกค้าสัมพันธ์งานที่เกี่ยวกับธุรการการจัดการ Social  media, ตารางกำหนดการนัดหมาย เป็นต้น ว่าที่ Digital Nomad ที่เคยมีอาชีพในลักษณะเช่นนี้ ก็จะสามารถรับงานไปทำได้เลย
14. พนักงานออนไลน์
คนที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็น Digital Nomad หลายคนอาจมีความกังวลใจ ในเรื่องความมั่นคงของรายได้ ใจหนึ่งก็อยากท่องเที่ยว อีกใจหนึ่งก็ยังรักงานประจำที่ทำอยู่ หรือรู้สึกคุ้นชินกับงานเดิมของตนเอง ทางออกก็คือว่า คุณต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนายจ้างของคุณว่าคุณยังคงประสิทธิภาพในการทำงานได้ ในขณะที่คุณเดินทางอยู่ แล้วมีงานอะไรกันบ้างหนอที่จะทำได้แบบไร้ตัวตน ที่ผมพอจะนึกออกก็คือ นักบัญชี นักเขียนประจำ คอลัมนิสต์ graphic designer ทั้งนี้การวางแผนระบบงาน ขั้นตอนของงาน ลักษณะงานที่ต้องไปสัมพันธ์กับพนักงานคนอื่น ๆ ล้วนมีความจำเป็น การทำงานประจำจากสถานที่ไกล ๆเช่นนี้ อาจไปเพิ่มงานให้กับคนอื่น จนสร้างความโกลาหลให้กับองค์กรได้ ต้องระมัดระวังมาก ๆครับ
 Digital Nomad คือ ? คนเร่ร่อนรุ่นใหม่ทำอาชีพอะไรกัน
ทิ้งท้ายกันไว้หน่อย
ผู้ที่ต้องการก้าวให้พ้นจากงานประจำ หรือมนุษย์เงินเดือน ลูกจ้าง หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่ใฝ่ฝันอยากเป็น Digital Nomad อยากให้ใคร่ครวญดูให้ถี่ถ้วน โดยเฉพาะวัยรุ่นว่า ความสามารถเฉพาะทางของเราเก๋าพอหรือยัง เรายังคงต้องเป็นห่วงครอบครัวของเราไหม พ่อ แม่เจ็บป่วยขึ้นมาจะทำอย่างไร เมียของเราจะยอมไปพเนจรกับเราหรือไม่ หรือว่าทิ้งไว้ให้เขาหาผัวใหม่ดี แก่เฒ่าไปจะลงหลักปักฐานที่ไหน อย่างไร ผมมาลองคิดดูว่า เราจะรู้สึกอย่างไรหนอถ้าหากว่า ถ้าเมืองไทยมีเหล่า Digital Nomad ที่เป็นฝรั่งหัวแดงพักอยู่เต็มไปหมด ในขณะที่คนไทยก็ไปแรดหัวดำอยู่ทั่วทุกมุมของโลก ใครจะขายส้มตำ ใครจะต้มยำกุ้งให้เรากิน ใครจะปลูกข้าว ใครจะผลิตเสื้อผ้า จะมีหมอและพยาบาลอยู่ในโรงพยาบาลไหม ตำรวจยังใช้คนจริง ๆทำหน้าที่อยู่หรือไม่ หรือว่าใช้หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ ก็เป็นเรื่องที่น่าพรั่นพรึงกับความรู้สึกไม่น้อยทีเดียวครับ ช่วงหลายปีก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง ผมได้คุยกับเพื่อนชาวไต้หวันที่เคยทำงานที่เดียวกัน เขาบอกว่ามีคนไต้หวันเข้ามาในไทยจำนวนมากในขณะนั้น มาในฐานะผู้เชี่ยวชาญพิเศษที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพในไทยได้ ทำงานประจำอยู่ที่สำนักงานบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง เขาเล่าให้ฟังว่าคนพวกนี้วันวันก็ไม่ต้องทำอะไร วิ่งไปวิ่งมาระหว่างตึกสาทร กับบริษัท เล่นหุ้นกันอย่างเอาเป็นเอาตายทีเดียว ซึ่งตอนนั้นตลาดหลักทรัพย์ในไทยกำลังเฟื่องฟูอย่างสุด ๆ จนทำให้เด็กจบใหม่ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักลงทุนเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ ครั้งนั้นผมก็เคยคิดว่าถ้ากำลังหลักของชาติส่วนใหญ่มุ่งไปที่การลงทุนในตลาดหุ้น แล้วภาคการผลิตของประเทศจะเป็นอย่างไรในอนาคต ทั้ง ๆที่ในขณะนั้นประเทศของเราเริ่มขาดแคลนแรงงาน ซึ่งก็เป็นปัญหามาจนทุกวันนี้    เรื่องของ Digital Nomad ก็เหมือนกันครับ ภาคการผลิตจะดำเนินไปอย่างไร ถ้าหากเทคโนโลยีด้านการผลิตยังพัฒนาตามมาไม่ทัน เศรษฐกิจชาติจะเป็นอย่างไร ถ้าหากว่ารายได้ของเหล่า Digital Nomad เกิดมาจากผู้ว่าจ้างภายในประเทศ แต่กลับถูกนำไปใช้จ่ายยังต่างประเทศ การออมของคนในชาติจะชะลอตัวลง แล้วธนาคารจะอยู่ในภาวะเช่นไร ประเทศจะมีรายได้จากการเก็บภาษีจาก Digital Nomad หัวดำคนไทยอยู่หรือไม่ นี่แหละมันเป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลย เพราะอีก 20 ปีข้างหน้า พลเมืองของโลกประมาณว่า มีถึง 20 เปอร์เซ็น ที่จะเป็นชนเผ่าเร่ร่อนยุคใหม่ Digital Nomad นั้นเองครับ สำหรับวันนี้ ฝันดีราตรีสวัสดิ์ครับผม  

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *