ช้าง หมอช้าง และความสำคัญของช้างต่อแผ่นดินไทย


ช้าง: เป็นสัตว์บกที่เลี้ยงลูกด้วยนมที่จัดได้ว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ในประเทศไทยถือว่าเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง และมีความผูกพันกับคนไทยมาอย่างยาวนาน การดำรงอยู่ของช้างไทยในสมัยโบราณอยู่ในสถานะที่สำคัญเทียบเคียงได้พอ ๆกับคน เพราะช้างถือว่าเป็นสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์ไทย สู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับคนเพื่อปกป้องเอกราช สืบทอดแผ่นดินไทยมาจวบจนปัจจุบัน บางพื้นที่จึงได้วางช้างไว้ในตำแหน่งสัตว์ศักดิ์สิทธิ การกระทำการอันใดที่เกี่ยวกับช้าง จึงมักมีพิธีกรรมสำคัญเข้ามาร่วมด้วยอยู่เสมอ

 
ประวัติ พฤติกรรม และความสำคัญของช้างไทย
 
ช้างไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มช้างเอเชียที่กระจายตัวอยู่ตามประเทศต่าง ๆ เช่นอินเดีย ศรีลังกา อินโดนีเชีย มาเลเซีย ไทย พม่า ลาว เขมร ซึ่งสมัยเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมาครั้งที่ผืนป่ายังคงความอุดมสมบูรณ์อยู่นั้น ช้างและสัตว์ป่าอื่น ๆ ก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก ในประเทศไทยเมื่อคราวนั้นเชื่อกันว่ามีช้างอยู่นับแสนเชือก ต่างจากในยุคปัจจุบันนี้ที่คาดกันว่ามีช้างป่าอยู่ราว 3000เชือกเท่านั้นเอง ในขณะเดียวกันยังคงมีช้างที่อยู่ในความดูแลของคนที่เรียกว่าช้างเลี้ยงอยู่อีกราว 3500 เชือก ซึ่งในจำนวนนี้เป็นช้างเลี้ยงทางฟากเอกชนอยู่ราว 90 เปอร์เซ็นต์ ความสำคัญของช้างได้ถูกเปลี่ยนจากสัตว์ศักดิ์สิทธิคู่บ้านคู่เมืองของคนไทย มาเป็นความสำคัญในเชิงปริมาณแทน ด้วยสาเหตุที่ว่ามีจำนวนลดลงเรื่อย ๆอย่างต่อเนื่อง โดยมีเรื่องการถูกคุกคามที่อยู่อาศัย และการถูกล่าเป็นเหตุผลหลักอันเกิดจากฝีมือมนุษย์เป็นสำคัญ

ช้างไทย หรือช้างเอเชียถือได้ว่ามีความจำ และความฉลาด มีไหวพริบดี มีระดับสติปัญญาเทียบเท่ากับโลมา นำมาฝึกสอนได้ง่ายกว่าช้างแอฟริกา เป็นสัตว์ที่มีโครงสร้างทางสังคมค่อนข้างชัดเจน มีการเรียงลำดับของสมาชิกในครอบครัวเป็น พ่อ แม่ พี่ น้อง ลุง ป้า การปฏิสัมพันธ์ระหว่างช้างด้วยกัน มันไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะแวดวงในครอบครัวเดียวกันเท่านั้น แต่มักจะมีไปยังช้างโขลงอื่น ๆอีกด้วย
 

ช้างมีสมองขนาดมหึมา แม้ว่าช้างแอฟริกาจะมี ร่างกายใหญ่โตกว่าช้างเอเชีย แต่กลับพบว่าขนาดสมองกลับเล็กกว่า จึงดูเหมือนว่าช้างเอเชียจะฉลาดกว่า และฝึกสอนได้ง่ายกว่ามาก พฤติกรรมของช้างจะแสดงไปได้อย่างสอดคล้องกับระดับสติปัญญาของมันอย่างกว้างขวาง ทั้งทางด้านอารมณ์เช่น รัก เศร้าโศก สงสาร ไปจนถึงด้านการพัฒนาการด้านต่าง ๆเช่น การเล่น การใช้อุปกรณ์ต่าง ๆที่มนุษย์สอนให้ เป็นต้นว่าฟุตบอล ภู่กัน กลอง ทำให้มันแสดงความสามารถได้ในด้านศิลปะ และดนตรีได้อย่างชาญฉลาด และเป็นเรื่องน่าแปลกที่ว่าช้างนั้นมีโครงสร้างสมองที่คล้ายคลึงกับมนุษย์ พบว่าสมองของช้างมีความซับซ้อน แถมมีรอยหยัก หรือรอยพับมากกว่าสมองของมนุษย์เสียอีก และยังพบอีกว่าจำนวนเซลประสาท ก็มีมากเท่า ๆกับของมนุษย์ หากมันเห็นภาพของตัวมันเองในกระจก มันจะสามารถตะหนักรู้ได้ในทันทีว่าภาพที่เห็นนั้นเป็นภาพสะท้อนของตัวมันเองในกระจก ในขณะที่สัตว์ชนิดอื่นยังคงกังขาว่าสิ่งที่มันเห็นในกระจกนั้นเป็นอะไร

 

ช้างมีประสาทสัมผัสการได้ยิน และการดมกลิ่นที่ดีเยี่ยม มันไม่ได้ได้ยินเสียงผ่านทางหูเพียงอย่างเดียว แต่สามารถรับความรู้สึกผ่านทางงวง และเท้าของมัน โดยการสื่อสารผ่านคลื่นความถึ่ต่ำที่มนุษย์ไม่สามารถได้ยินได้ เชื่อกันว่าช้างสามารถสื่อสารผ่านคลื่นความถี่ต่ำนี้ได้ในระยะราว 10 กิโลเมตร ทำให้มันสามารถค้นหาช้างตัวอื่นที่อยู่ห่างไกลออกไปได้
 
ช้างใช้เวลาในการพักผ่อนนอนหลับเพียงสามชั่วโมง เพราะเวลาส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในเรื่องการกินราว สิบหกชั่วโมงต่อวัน โดยปกติช้างจะกินพืชที่มีความหลากหลายตามฤดูกาลเป็นอาหาร แต่บางครั้งก็พบว่ามันโปรดปรานที่จะกินอาหารเนื้อสัตว์แปรรูปที่พบเห็นได้ตามบ้านเรือนของมนุษย์ที่ตั้งอยู่ตามตะเข็บรอยต่อของป่าได้เช่น ปลาร้า หรือกะปิ
 
ช้างถูกนำมาเลี้ยงไว้ใช้งานเป็นครั้งแรกในอินเดีย และแพร่กระจายมาตามที่ต่าง ๆทั่วเอเชีย โดยมีการใช้งานหลากหลายด้าน เช่นในอุตสาหกรรมป่าไม้ รวมทั้งถูกใช้ในการสงครามสมัยโบราณ ในปัจจุบันมีการเลี้ยงช้างเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ที่พบเห็นตามสวนสัตว์ ตามคณะละครสัตว์ หรือปางช้างที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศไทย
 
หมอช้าง
 
มีเรื่องเล่าจากปากของ กรรมการสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัด สุรินทร์ ท่านหนึ่งเกี่ยวกับความผูกพันทางด้านจิตวิญญาณระหว่างช้าง กับควาญช้างไว้ว่า ช้างจะมีความรู้สึกนึกคิดไม่ต่างจากคน แม้ยามที่มันได้จากไปแล้ว หากดวงวิญญาณถูกปล่อยให้เร่ร่อน ก็มักจะมาเข้าฝันควาญช้างที่เคยเลี้ยงดูอุ้มชูกันมาแต่เก่าก่อนให้มาเชิญดวงวิญญาณของมันกลับไปยังที่ที่มันคุ้นเคย ไม่ให้ละเลยทิ้งขว้างให้เร่ร่อนไร้ที่อยู่ แม้มันจะปรากฏอยู่ในอีกมิติหนึ่งก็ตาม ดังนั้นในสังคมไทยการกระทำใด ๆที่เกี่ยวข้องกับช้างตั้งแต่ เกิดไปจนถึงหมดอายุขัยของช้าง จึงต้องมีพิธีกรรมสำคัญร่วมอยู่ด้วยเสมอไม่แตกต่างจากคนเลย

ในพิธีกรรมสำคัญต่าง ๆต้องมีผู้รู้ที่มีวิชาอาคม เพราะเหตุที่ว่าช้างเป็นสัตว์ใหญ่ และมีความเฉลียวฉลาดเป็นอันมาก ผู้รู้ในศาตร์นี้จึงถูกจัดลำดับความสำคัญเป็นชั้น ๆไป การจัดชั้นลำดับของผู้รู้แบ่งเป็นสองระดับดังนี้
 
::: ระดับหมอ แบ่งเป็น 3 ชั้นคือ
 
   ครูบา หรือปะกำหลวง ถือว่าเป็นผู้คุมสูงสุด
   หมอสะดำ หรือหมอขวา
   หมอสะเดียง หรือหมอซ้าย
 
::: ระดับควาญ แบ่งเป็น 2 ชั้นคือ
 
    – ควาญจา
    ควาญมะ ตำแหน่งนี้ถือว่าเป็นตำแหน่งเริ่มต้น

 


ควาญมะ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของผู้ที่มีความสนใจในคชศาตร์  ผู้ที่ประสงค์จะเป็นมะ ต้องสมัครใจเข้าร่วมในพิธีกรรมต่าง ๆตั้งแต่เริ่มต้น และถือปฏิบัติตามจารีตประเพณีอย่างเคร่งครัด ในสมัยก่อนจะทำหน้าที่แบกหาม หุงหาอาหาร และรับใช้งานทั่วไปให้กับผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่า

 
ควาญจา จะเคยทำหน้าที่เป็นมะมาก่อน เข้าออกป่าจนมีความชำนาญ และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการจับช้างป่า จะทำหน้าที่คอยช่วยเหลือหมอช้าง มะคนใดก็ตาม ถ้าถูกครูบามอบหมายหน้าที่ในการช่วยเหลือหมอช้าง ก็จะได้รับการเลื่อนขั้นเป็นจาได้เลยโดยไม่ต้องผ่านพิธีกรรมใด ๆ ควาญจาจะเป็นผู้อยู่ที่ท้ายช้างต่อ คอยส่งเครื่องมือให้กับหมอช้างที่อยู่ด้านหน้า จาและหมอช้างมักจะรู้ใจกัน ในการคล้องช้างป่า จาจะคอยสังเกตอากัปกริยาของหมอช้าง เพื่อที่จะสามารถส่งเครื่องมือในการคล้องช้างให้กับหมอช้างได้อย่างถูกต้อง และทันเวลานั่นเอง
 
หมอสะเดียง หรือหมอซ้าย จาที่ได้ผ่านประสบการณ์ช่วยหมอจับช้างป่ามาจนชำนาญ จะได้รับเลือกให้เข้าสู่พิธีปะชิ เพื่อแต่งตั้งให้เป็นหมอสะเดียง โดยครูบาจะเป็นผู้ประกอบพิธีให้ ในการคล้องช้างแต่ละครั้งหมอสะเดียงจะเป็นหมอซ้ายของครูบา และเป็นผู้จัดเรียงเครื่องเซ่นไหว้ในพิธีการสำคัญ หากหมอสะเดียงผู้ใดทำผิดข้อห้ามสำคัญแล้วจะถูกลดชั้นกลับไปเป็นจาใหม่อีกครั้ง
 
หมอสะดำ หรือหมอขวา หมอสะเดียงคนใดที่ชำนาญจนสามารถจับช้างป่าได้ตั้งแต่ 5 เชือกขึ้นไป และเคยควบคุมการจับช้างป่าด้วยตนเอง ยิ่งถ้าสามารถจับช้างเชือกสำคัญได้ แม้ว่าเป็นเพียงเชือกเดียว เช่นคล้องช้างเผือกได้ ก็สามารถขอทำการเข้าพิธีประชิ เพื่อรับการแต่งตั้งให้เป็นหมอสะดำได้
 

ครูบา หรือปะกำหลวง เป็นหมอสะดำที่เคยคล้องช้างป่ามาได้ไม่น้อยกว่า 20 เชือก มีความชำนาญทางด้านคชลักษณ์ และพิธีกรรมต่าง ๆ จะได้รับการประชิ เลื่อนชั้นขึ้นมาเป็นครูบา จะเป็นที่เคารพยำเกรงของควาญ และหมอช้าง มีอำนาจในการระงับข้อขัดแย้ง และชำระความผิดของควาญ และหมอช้างทุกคน เป็นหัวหน้าผู้ควบคุมสูงสุดในการคล้องช้างป่าแต่ละครั้ง

หากทว่าการจำกัดความสำคัญของหมอช้างไม่ได้หยุดอยู่ที่ตำแหน่งครูบา หรือประกำหลวงแต่เพียงเท่านั้น ด้วยเหตุที่ว่า ครูบายังคงมีครูที่เคยสอนกันมาแต่เก่าก่อนเป็นลำดับชั้นไป ครูบางท่านเคยคล้องช้างป่ามาแล้วไม่ต่ำกว่า 50 เชือก จนเป็นที่กล่าวขาน เป็นตำนานให้ครอบครัวลูกหลานที่สืบทอดวิชชาได้กราบไหว้อยู่อย่างไม่รู้ลืม จึงมีคำว่า ครูเฒ่า พ่อหมอเฒ่า ปฏิยายะ หรือปกรรมบดีปู่เจ้า ให้ชนรุ่นหลังเรียกขานในอันดับชั้นที่สูงส่งขึ้นไปอีก
 
ความเชื่อเรื่องครูปะกำมีมาอย่างยาวนานปรากฏเห็นเป็นหลักฐานมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัยเรื่อยมา เหตุเพราะการคล้องช้างในกาลก่อนนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ ครูหรือหมอช้างต้องมีความรู้ในหลาย ๆศาตร์ที่จะนำมาผนวกรวมกันจนเกิดเป็นศิลปวิทยา เพื่อใช้ในการคล้องช้าง บรรดาครูหมอหอช้างต่างต้องชำนาญทั้งทางด้านไสยศาสตร์ พิธีกรรม มีไหวพริบปฏิภาณ เชี่ยวชาญด้านคชศาตร์ ภาษาป่า รหัสป่า รู้ภูมิศาสตร์ของป่า ถิ่นที่อยู่ของช้างป่า พิธีกรรมการเซ่นบูชาผีป่า และรอบรู้ด้านสมุนไพรต่าง ๆที่จะนำมารักษาเหล่าบริวารขณะเดินป่าดังนั้นในการออกเดินป่าแต่ละครั้ง การเคารพ เชื่อฟังกันตามลำดับอาวุโสเป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด หากจะไล่เรียงลำดับชั้นกันอย่างจริงจังจากสูงสุดไปแล้ว ก็จะเป็นดังนี้
 
::: ปฏิยายะทวด เป็นผู้ที่มีอาวุโสสูงสุด มีความรอบรู้ ความเชี่ยวชาญในการคล้องช้างอย่างลึกซึ้งเหนือกว่าใคร
 
::: ปฏิยายะ หรือพ่อหมอเฒ่า หรือหมอช้างใหญ่ เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจทุกเรื่องราวในระดับปฏิบัติการคล้องช้างป่า เป็นหมอช้างใหญ่ที่คอยควบคุมกลุ่มย่อย ๆทุกกลุ่มในคณะคล้องช้างนั้น
 
::: ครูบา เป็นรองลงมาจากหมอช้างใหญ่ เป็นหัวหน้ากลุ่มย่อย ในคณะนั้น
 
::: หมอสะดำ เป็นหมอเบื้องขวาของครูบา
 
::: หมอสะเดียง เป็นหมอเบื้องซ้ายของครูบา
 
::: จา เป็นผู้ช่วยหมอ หรือครูบา
 
::: มะ เป็นผู้รับใช้หมอ หรือครูบา อันเป็นตำแหน่งเริ่มต้นของผู้ที่สนใจในศาสตร์นี้
 
 
นอกจากนี้ในระดับชั้นครูยังแบ่งสายออกไปเป็น 2 แขนงคือ ครูในการคล้องช้าง และครูผู้ฝึกสอนช้าง
 
::: พฤฒิบาศ เป็นชื่อเรียกครูในการจับช้างที่เรียกว่า หมอเฒ่า และเรียกพฤฒิบาศรองลงมาว่า หมอช้าง
 
::: หัสดาจารย์ หรือ หัตถาจารย์ เป็นครูผู้ฝึกสอนช้างที่เรียกว่า ครูช้าง เป็นผู้ฝึกสอนช้างให้เรียนรู้ เพื่อใช้ในกิจการต่าง ๆ
 
การดำเนินพิธีกรรมเกี่ยวกับช้างจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความสำคัญของช้างป่าที่คล้องเอามาได้ ช้างใดก็ตามที่มีคชลักษณ์งดงามต้องตามตำราเป็นช้างเชือกสำคัญก็จะมีพระราชพิธีขึ้นระวางสมโภช อันเป็นพิธีกรรมที่ซับซ้อนขึ้น และจึงเริ่มงานจับเชิง ( ฝึกสอน ) กันต่อไป
 
เทพเจ้าศักดิ์สิทธิผู้มีอำนาจในเรื่องของช้าง จะถูกอัญเชิญมาร่วมในพิธีกรรมสำคัญคือ พระพิฆเนศวร พระโกญจนาเนศวร และในลำดับชั้นที่รองลงมาก็คือ พญาเทพกรรม หรือพระกรรมบดีปู่เจ้า เป็นเทวดาที่มี 6 กรในท่านั่งสมาธิ มีบริวารเป็นฤาษี 2 ตนคือ ฤาษีธรรมเทพอยู่เบื้องขวา และฤาษีสิทธิพระกรรมอยู่เบื้องซ้าย ในพิธีกรรมเพื่อบูชาพระกรรมบดีปู่เจ้านั้นต้องอาศัยครูหมอเฒ่า หรือพราหมณ์มาเป็นประธานในพิธี เพื่อให้การบรวงสรวงเทพเจ้าดำเนินไปได้ด้วยดี และประสบความสำเร็จ
 
การดำรงอยู่ของช้างไทยในยุคปัจจุบัน มีสถานะที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบกับยุคก่อนเก่า จากที่เคยเป็นเหมือนมิตรที่ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับชนชาวไทย ช่วยกอบกู้บ้านเมืองให้สยามได้ลงหลักปักฐานมั่นคงมาตราบเท่าทุกวันนี้ ได้กลับกลายมาเป็นสัตว์เร่ร่อนขอข้าว ขอน้ำเขากินไปวัน ๆ ที่ดีหน่อยก็ได้รับการเลี้ยงดูอุ้มชูอยู่ตามปางช้างต่าง ๆทั่วไป ส่วนช้างป่าตามธรรมชาติก็ลดน้อยถอยลงไปทุกวี่วันจากเหตุที่ถูกมนุษย์รุกรานที่อยู่ที่กิน หวังไว้แต่เพียงว่าให้คนไทยได้หาโอกาสแสดงความเอื้ออาทรต่อช้างบ้าง เหมือนเมื่อครั้งที่พวกเขาได้เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกับบรรพบุรุษเรามาในกาลก่อน

ผมมีบทความที่เกี่ยวกับช้างอีก 2 บทความคือ การคล้องช้าง พิธีกรรมโบราณยังคงรอคอยผู้สืบสาน เป็นบทความที่จะเล่าถึง การคล้องช้างป่าซึ่งหาดูไม่ได้แล้วในปัจจุบันนี้  และบทความเรื่อง  ศาลปะกำ เชือกปะกำ พันธนาการของคนกับช้างที่มิอาจเลือนหาย เป็นบทความที่เกี่ยวข้องกับประเพณีการไหว้ผีประกำ ที่นับวันจะหาทายาทสืบสานต่อก็ยากเต็มที สำหรับวันนี้ ฝันดี ราตรีสวัสดิ์ครับ
 
 

 



 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *