การออม : เก็บเงินไว้ใช้เมื่อเข้าวัยเกษียณ


เรื่องการออม ถือเป็นเรื่องวิกฤติของชาติไทย เมื่อประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2548 และจะเต็มรูปแบบในปี 2568 ถึงตอนนั้นคนในวัยเกษียณจะมีมากถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ การเก็บเงิน เก็บทอง เอาไว้ใช้ยามแก่เฒ่าเป็นเรื่องที่น่าใคร่ครวญเป็นอย่างยิ่ง ผมเขียนบทความนี้อย่างมีจุดประสงค์ แต่ยังหาจุดหมายไม่เจอเลยว่า บทความนี้จะจบลงที่ตรงไหน กะเกณฑ์เอาไว้ว่าคงจะยาวมาก ถ้าคุณคิดว่าจะเป็นประโยชน์ โปรดหาเครื่องดื่ม อาหารเตรียมไว้หน่อยก็จะดี

เริ่มบ่น

 
ในสมัยก่อนย้อนหลังไปสักสามสิบปีเคยมีคำกล่าวว่า มีลูกมากจะยากจน การสร้างฐานะของคนไทยนั้นทำได้ยาก เพราะภาระที่ต้องเลี้ยงดูบุตรหลาน ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วครอบครัวหนึ่งจะมีบุตร 5-8 คน จนทำให้มีการรณรงค์เกี่ยวกับการวางแผนครอบครัวจากภาครัฐ และเอกชนอย่างต่อเนื่อง บุคคลที่มีบทบาทโดดเด่นเป็นอย่างมากก็คือ คุณมีชัย วีรไวทยะ  ไม่ว่าจะไปรณรงค์ที่ไหน แกจะติดเอาถุงยางอนามัยสำหรับท่านชายไปแจกด้วยทุกที่ไป จนคนเรียกถุงยางอนามัยในสมัยนั้นว่า ถุงมีชัย ตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา จำนวนการเกิดลดลงอย่างรวดเร็วหลังปี 2523จนในปัจจุบันนี้ แต่ละครอบครัวจะเลือกที่จะมีบุตรไม่เกิน 2 คน
 
ด้วยเหตุที่อัตราการเกิดลดลง และอัตราการตายก็ลดลงด้วย เพราะการแพทย์ และสาธารณสุขของไทยก้าวหน้า อายุเฉลี่ยของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็น 77 ปี ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างของประชากรอย่างรวดเร็ว รุนแรง และชัดเจนขึ้นทุกที
 
 

อดีต

 
 
จำนวนประชากรในปี 2493 มีประมาณ 20 ล้านคน จะเป็นคนวัยทำงานมากกว่าครึ่งหนึ่ง วัยเด็กอายุไม่ถึง 15 ปีก็เกือบครึ่งหนึ่ง ส่วนคนแก่อายุมากกว่า 65 ปีก็น้อยเต็มที เพราะตายจากกันไปเสียก่อน สมัยนั้นแม่ของผมเคยเล่าว่า แถวบ้านที่เคยเป็นตลาดสดนั้น ผู้คนยังขี่ม้ามาซื้อของกันอยู่เลย ในตลาดก็หาคนงานง่ายกว่าสมัยนี้มาก เพราะมีงานให้ทำไม่มากนัก เมื่อตอนพ่อของผมวิ่งรถบรรทุกระหว่างปราจีนบุรี กับกรุงเทพฯ ขาเข้าก็บรรทุกหน่อไม้ปีบไปส่งที่ปากคลองตลาด ขากลับก็บรรทุกผักสดจากปากคลองฯ กลับมาขายที่ปราจีนฯ คนงานรับจ้างไม่เคยปริปากบ่น ดีใจเสียอีกที่จะได้รับค่าจ้างเพิ่ม แต่ในปัจจุบันนี้ให้ทำงานตามเวลาที่กฎหมายกำหนด ไม่ต้องติดรถบรรทุกไป ก็ยังหาคนทำงานยากเต็มที จ้างแพงมาก ๆก็ทำงานวันหยุดพักวัน ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ผมใช้จ้างคนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทุกวันนี้จ้างที่ 500-600 บาท ห้ามบ่น ห้ามว่า ห้ามจู้จี้ เข้าใจมั๊ย
 

 

20 ปีถัดมา ( ปี 2513-2523 )

 
มีประชากรเพิ่มมากขึ้น ประมาณ 37 ล้านคน โครงสร้างก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก แต่เพราะว่าการหารายได้ที่จะมาจุนเจือครอบครัวนั้นมีหนทางไม่มากนัก จึงเกิดนโยบายการวางแผนครอบครัวเกิดขึ้น และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมากในปี 2523 ซึ่งในปีนั้นพบว่ามีเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีมีจำนวนเกือบ 20 ล้านคน ( จากจำนวนประชากรประมาณ 48 ล้านคน ) ถือว่าเป็นปีที่มีประชากรวัยเด็กอยู่มากที่สุด หลังจากปี 2523 เป็นต้นมา ประชากรวัยนี้ก็เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง และจะส่งผลกระทบต่อแรงงานภายในชาติในอีกหลายสิบปีถัดมา
 

มาดูข้อมูลอีกซัก 20 ปีต่อมา ( 2543 )

 
ปี 2543 ประเทศไทยมีประชากรทะลุหลัก 60 ล้านคนไปแล้ว และโครงสร้างประชากรก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดคือ จากประชากรทั้งหมดประมาณ 65 ล้านคน จะอยู่ในภาคแรงงานเกือบ 45 ล้านคน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีลดลงเหลือประมาณ 15 ล้านคน และลดลงเรื่อย ๆในปีถัดมา และเป็นคนชราวัยเกษียณ อายุมากกว่า 65 ปีเกือบ 5 ล้านคน และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
 

ปัจจุบัน ( ปี 2553-2563 )

 
 
ในช่วงปี 2558-2560 ประชากรในประเทศไทยทะลุหลัก 70 ล้านคนไปแล้ว ถือว่าเป็นช่วงที่มีประชากรเข้าสู่ภาคแรงงานมากที่สุด โดยคาดว่าในปี 2563จะมีมากถึง 50 ล้านคน และจะเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่องจากปีนี้เป็นต้นไป ในขณะที่ประชากรวัยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จะลดลงเหลือประมาณ 13 ล้านคน และมีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆเช่นกัน แต่คนวัยเกษียณอายุมากกว่า 65 ปีพบว่ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเป็นเกือบ 10 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
 
จากข้อมูลนี้บอกเราได้คร่าว ๆว่าในปัจจุบันนี้ คนวัยทำงาน 5 คนจะมีภาระดูแลคนที่อยู่ในวัยพึ่งพาจำนวน 3 คน คือเป็นคนวัยเกษียณ 1 คน และเด็ก 2 คน ถึงตอนนี้คนหนุ่ม ๆสาว ๆเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการออมเงินบ้างหรือยังครับ ถ้ายังมาดูอนาคตกัน
 

 อนาคต (2563….)

 
ภาพข้างบนแสดงโครงสร้างประชากรไทยปี 2568 ส่วนภาพด้านล่างถัดไปแสดงโครงสร้างประชากรไทยปี 2588
เห็นหรือยังครับว่าประเทศไทยของเราเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว รุนแรง และชัดเจน ในขณะที่เรายังยากจนกันอยู่ แต่ก็แก่กันไปเสียแล้ว มีคำอธิบายนิดหน่อยดังนี้ครับ
 
คาดว่าในราวปี 2575 ไทยจะมีประชากรสูงที่สุดที่ 75 ล้านคน อยู่ในวัยทำงานเกือบ 50ล้านคน และเป็นปีแรกที่จะมีจำนวนประชากรวัยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เท่ากับ จำนวนประชากรวัยเกษียณที่มีอายุเกิน 65 ปี เป็นครั้งแรก นั่นหมายถึงจะมีเด็กประมาณ 13 ล้านคน และมีคนแก่อยู่ 13 ล้านคน ซึ่งคนทั้งสองวัยนี้จำเป็นต้องพึ่งพา คนวัยทำงาน ซึ่งในตอนนั้นจะหมายถึงว่า คนวัยทำงาน 2 คนจะมีภาระดูแลเด็ก 1คน และ คนแก่วัยเกษียน 1 คน
 
มองไกลออกไปอีกนิดคือ อีกยี่สิบปีข้างหน้า ประมาณปี 2588 อย่าเพิ่งขำกลิ้ง เพราะผมเชื่อว่าคุณยังมีชีวิตอยู่ ถ้าโครงสร้างประชากรยังมีแนวโน้มเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆประชากรจะเริ่มลดลงเหลือ 73 ล้านคนเพราะอัตราการเกิดต่ำ คนวัยทำงานก็ลดลงเหลือประมาณ 45 ล้านคน เด็กต่ำกว่า 15 ปีลดลงเหลือ 10 ล้านคน ในขณะที่คนแก่วัยเกษียนเพิ่มมากขึ้นเป็น 18 ล้านคน นั่นหมายถึงว่าจะมีเด็กที่จะเข้าสู่ภาคแรงงานในอนาคตอยู่แค่สิบล้านคน ในขณะที่มีคนแก่วัยเกษียนที่หมดเรี่ยวแรงลงไปทุกวัน ๆอยู่มากกว่าเกือบเท่าตัว จำนวนประชากรไทยจะลดลงไปแตะที่ระดับ 70 ล้านคนอีกครั้งในปี 2600

ถึงตอนนั้นหลาย ๆคนที่กำลังอ่านบทความในวันนี้ก็คงอาจเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว จะเตรียมตัวกันอย่างไรดีเพื่อที่จะเข้าสู่วัยเกษียณได้อย่างสง่างาม อย่าเพิ่งเครียดครับ ลำพังตัวผมเองก็ไม่ได้เตรียมอะไรไว้ กะว่าชาติหน้าว่า ทันทีที่ลืมตาดูโลกก็จะเตรียมตัวเดี๋ยวนั้นเลย ใจเย็น ๆ ชีวิตย่อมมีหนทาง พักสายตากันสักครู่ดีไหม

ขอบคุณรูปภาพจาก pxhere.com
 

การออม: เก็บเงินไว้ใช้เมื่อเข้าวัยเกษียน

 
เอาล่ะครับ จากข้อมูลทั้งหมดนี้เพียงเพื่อจะเล่าให้ฟังว่า พวกเราเป็นบุคคลในอนาคตที่จะเป็นภาระของชาติในอีกไม่นานนี้ คุณจะเชื่อหรือไม่หนอว่า ในระยะเวลานับสิบปีมานี้ ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานที่ไม่มีรายได้สำหรับตัวผมเองเลย หลังจากที่ใคร่ครวญดูแล้วว่าถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป คงจะเป็นภาระชิ้นใหญ่ให้กับคนอื่นเป็นแน่แท้ ก็เริ่มหารายได้บนจอคอมพิวเตอร์สะสมทีละเล็กละน้อยเอาไว้ดูแลตัวเองยามแก่เฒ่า ไม่ให้เป็นภาระกับคนอื่น ๆ เพราะถึงจนแต่ก็หยิ่ง มั่วะ
 
พบว่าครอบครัวไทยที่พร้อมจะมีลูกนั้น ยินดีที่จะมีเจ้าตัวเล็กเพียงหนึ่งคนเท่านั้น ในขณะที่วัยใสที่ยังไม่ทันจะได้เป็นครอบครัวเลย กลับตั้งท้องกันอย่างเอาเป็นเอาตาย จนติดอันดับโลกเข้าไปแล้วสิ่งนี้บอกเราได้ว่า คุณภาพของคนที่จะเข้าสู่ภาคแรงงานในอนาคตจะเป็นอย่างไร คนเหล่านี้จะมีรายได้เพียงพอที่จะมาจุนเจือเรายามแก่เฒ่าหรือไม่ การออมเพื่อเก็บเงินไว้ใช้ในวัยเกษียณนั้น ต้องทำกันอย่างจริงจัง ถ้าหากหวังพึ่งพาทางรัฐ จะเพียงพอหรือไม่ มาดูกัน
 
คนที่มีรายได้จากงานประจำในปัจจุบันมีประมาณ 37 ล้านคน แน่นอนว่ามีคนทีอยู่ในวัยทำงานจำนวนหนึ่งไม่มีงานทำ และอีกจำนวนหนึ่งมันไม่ยอมทำงาน ในจำนวน 37 ล้านคนนี้ จะอยู่ในภาคราชการ/รัฐวิสาหกิจประมาณ 2 ล้านคน คนเหล่านี้จะยังคงสามารถดำรงสถานภาพหลังวัยเกษียณได้ค่อนข้างดี เพราะมีบำเหน็จ บำนาญ ค่ารักษาพยาบาล มีรายได้ใกล้เคียงกับเมื่อครั้งที่ยังทำงานอยู่ ส่วนกลุ่มคนที่ทำงานอยู่ในภาคเอกชนมีอยู่ประมาณ 9 ล้านคน หลังเกษียณแล้วคนที่หวังแต่จะพึ่งพาระบบนั้นจะมีรายได้จาก ประกันสังคม ซึ่งระบบจะสามารถจ่ายเงินคล้าย ๆกับบำนาญให้เป็นเดือน ๆให้ราว หก เจ็ดพันบาทต่อเดือน อันนี้แล้วแต่เงินสมทบที่จ่ายเข้าระบบซึ่งอิงกับฐานเงินเดือน ระยะเวลา และผลตอบแทนจากการจัดการบริหารกองทุนของสำนักงานประกันสังคม ถามตัวเองว่าเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่มีเงินเก็บออมไว้เลย มาดูกันอีกกลุ่มซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่มีราว 26ล้านคนที่ประกอบอาชีพอิสระ คนเหล่านี้อยู่นอกระบบสวัสดิการ ซึ่งมีผสมปนเปกันไประหว่างคนรวยมาก ๆ คนรวย คนจน และคนจนมาก ๆ คนที่น่าเป็นห่วงก็คือคนจน เพราะพวกเขาไม่มีเงินออม รายได้ที่ได้มาก็ใช้จ่ายไปวัน ๆ แม้รัฐบาลจะตั้งกองทุนการออมแห่งชาติขึ้นมาสำหรับคนกลุ่มนี้ ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แม้ว่ารัฐจะสร้างแรงจูงใจที่ฟังดูดี๊ดี
 
 
เช่นว่า หนุ่ม สาวที่อายุน้อย ๆถ้าฝากเงินเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ 100 บาท ทางกองทุนจะสมทบให้ทันทีอีก 30 บาท แต่ถ้าเป็นผู้เฒ่าเลยวัยเกษียณไปแล้วจะสมทบให้อีก 100 บาทเลย เหล่าอากง อาม่าอย่าเพิ่งตาโต จะหอบเงินสักสิบล้านไปฝากเพื่อจะได้เป็นยี่สิบล้านในชั่วข้ามคืนนั้น ทำไม่ได้ครับ เพราะทางกองทุนการออมแห่งชาตินั้นจำกัดเพดานเอาไว้เป็นแค่เงินหลักพันในแต่ละเดือนเท่านั้น  ระบบนี้ผมยืนยันเลยว่าเหมาะมาก และดีมากสำหรับคนอายุน้อย ๆที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน การออมเงินทุกเดือน ๆละไม่กี่ร้อยบาทเป็นระยะเวลานาน ๆจะสามารถสร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้กับชีวิตของคุณได้อย่างเหลือเชื่อทีเดียว ลองหาข้อมูลดูนะครับที่ กองทุนการออมแห่งชาติ ข้อจำกัดอีกอย่างก็คือคนที่จะสามารถใช้บริการ กองทุนนี้ได้ต้องไม่มีระบบสวัสดิการอื่น ๆรองรับอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการข้าราชการ หรือประกันสังคมก็ตาม
 
คนไทยทุกคนไม่ว่าจน หรือรวยที่มีอายุเกิน 60 ปีจะได้รับเบี้ยชราภาพจำนวน 600 บาททุกเดือน ไม่ทราบว่าปรับขึ้นให้แล้วหรือยัง คิดกันเล่น ๆนะว่า ครั้งหนึ่งแม่เล่าให้ผมฟังว่าราว 40 ปีที่แล้ว( ปี 2520 )เขาขายราดหน้า ข้าวราดแกงให้เด็กนักเรียนจานละ 2 บาท อีกสิบปีถัดมาเพิ่มเป็น 10 บาท และอีกสิบปีถัดมาก็เพิ่มเป็น 25 บาท จนปัจจุบันนี้เป็น 40 บาท ไม่อยากคุยเลยว่าสมัยโชติช่วงชัชวาล รัฐบาลชาติชาย พ่อเคยพาผมไปกินข้าวต้มเป็ดแถวเยาราช ชามละ 200 บาทมาแล้ว อั่ยะ  และถึงตอนนี้คุณพอมีไอเดียอะไรไหมว่า ข้าวราดแกง ในอีกสิบ หรือยี่สิบปีข้างหน้ามันจะราคาเท่าไรกัน
ไทยเรามีเวลาเพียงน้อยนิด เพื่อปรับตัวเข้าสู่สังคมสูงวัย เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว การสร้างฐานะของคนในสังคมไทยยังไม่พ้นเส้นความยากจน คือเรายังไม่ทันรวยเลยก็แก่กันเสียแล้ว ในขณะที่ประเทศทีพัฒนาแล้ว เช่นฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์มีระยะเวลาในการเตรียมตัวมากกว่า จึงสามารถทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรสูงมากพอ ที่จะไม่ทำให้เกิดวิกฤตทางด้านการคลังของรัฐได้
 
ทุกวันนี้เราต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าว ในประเทศใกล้เคียง แต่รู้กันหรือไม่ว่า อีกไม่นานนักประเทศเหล่านั้นก็จะประสบชะตากรรมแบบเดียวกันกับประเทศของเรา ปัญหาแรงงานจะเป็นปัญหาสำคัญ ตีคู่ขนานไปกับ ปัญหาวิกฤติการคลังของประเทศ คาดว่าในปี 2567 รัฐต้องเตรียมงบประมาณสำหรับดูแลคนในวัยเกษียณ ในรูปของ กองทุนบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ประกันสังคม และกองทุนการออมแห่งชาติ ประมาณ เจ็ดแสน ถึงแปดแสนล้านบาท ซึ่งอาจสร้างวิกฤติครั้งยิ่งใหญ่ให้กับสถานะการเงินการคลังของไทย พวกเราที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคตนั้น ดูเหมือนจะกำลังสร้างภาระอันยิ่งใหญ่ให้กับคนรุ่นหลัง จะทำอย่างไรดีที่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ เป็นคลังปัญญาของประเทศ และยังดำรงสถานะที่จะขับเคลื่อนสังคม ยังคงทำงานได้ และมีรายได้เพื่อเป็นหลักประกันให้กับตัวเอง คุณเห็นความสำคัญของการออม การเก็บเงินเอาไว้ใช้ในยาเกษียณแล้วหรือยัง ยังอีกเหรอ งั้นมาฟังต่อ
 

ปัญหาสุขภาพของคนวัยเกษียน

 
มีการสำรวจแล้ว พบว่าคนในวัยเกษียณในไทยมีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่มีสุขภาพแข็งแรง แน่นอนอีกร้อยละ 95 มีโรคประจำตัวอย่างน้อย 1 โรค และก็มีอีกจำนวนมากที่มีหลาย ๆโรครุมเร้า เช่น เบาหวาน หัวใจ ความดัน กระดูกพรุน เข่าเสื่อม ซึมเศร้า และเป็นผู้ป่วยติดเตียง นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุประสบอุบัติเหตุได้ง่ายดาย ที่ไม่ใช่เพราะปัญหาสุขภาพ แต่เป็นเพราะสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม และไม่ปลอดภัย สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เงินทั้งนั้น แม้ว่าจะมีบัตรทองบริการท่านอยู่ก็ตาม
 

ปัญหารายได้ของคนวัยเกษียณ

 
พบว่ามีคนในวัยเกษียณที่ยังคงต้องทำงานอยู่ถึงร้อยละ 18 บางคนก็เต็มใจที่จะทำงาน และบางคนต้องทนทำทั้ง ๆที่ไม่อยากทำเลย แต่ถ้าไม่ทำก็จะไม่มีรายได้เลี้ยงตัวเอง
 
พบว่าคนวัยเกษียณที่มีรายได้จากเบี้ยบำนาญอยู่เพียง 13 เปอร์เซ็น เป็นคนในเมืองเสียร้อยละ 10 ที่เหลืออีก ร้อยละ 3 อยู่ในชนบท
 
พบว่าคนในวัยเกษียณที่ขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนที่อยู่ในเมืองขอรับเงินนี้ 82 เปอร์เซ็น ขณะที่คนยากจนในชนบทจะรับเงินนี้ถึง 92 เปอร์เซ็น
 
พบว่าหญิงชราวัยเกษียณที่ต้องพึ่งพารายได้จากสามี มีประมาณร้อยละ 20-30
 
พบว่าคนในวัยเกษียณต้องพึ่งเงินจากบุตรมีถึงร้อยละ 70-80 ทั้งที่อยู่ในเมือง และชนบท
 
จะเห็นว่าแหล่งรายได้สำคัญของคนในวัยเกษียณนั้นมาจากบุตร แต่ทว่าในยามนี้ ไปจนถึงอนาคตข้างหน้านั้นบุตรหลานของท่านทั้งหลายจะสามารถจุนเจือท่านได้อย่างเต็มที่หรือไม่ เมื่อพวกเขาต้องต่อสู้อยู่ในสังคมที่โหดร้ายนี้
 
มีการสำรวจจากธนาคารฮ่องกง แอนด์ เซี่ยงไฮ้ พบว่าผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณที่มีการศึกษาดี จะเตรียมตัวในการเข้าสู่วัยชราได้ดี และมีความสุขกับวัยนี้เป็นอย่างมาก พวกเขาจะรู้สึกถึง อิสรภาพ ความสุข ความพึงพอใจ ความมั่งคั่ง โอกาส ความหวัง ความตื่นเต้น ความเฉลียวฉลาด และความสุขุม
 
 
หากทว่ามีผู้ทีอยู่ในวัยเกษียณอีกกลุ่มหนึ่ง ที่มีการศึกษาน้อย และเตรียมตัวได้ไม่ดีพอ พวกเขาจะมีความรู้สึกด้านลบต่อการเกษียณอายุ พวกเขาจะมีความขัดสนทางด้านการเงิน มีสุขภาพแย่ เบื่อหน่าย เหงา เปล่าเปลี่ยว กลัว สูญเสียความทรงจำ และมักจะถูกเลือกปฏิบัติ
 
 
มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเกษียณอายุที่ว่า เมื่อไม่ได้ทำงานก็จะไม่มีรายได้ แถมมีรายจ่ายอย่างสม่ำเสมอเสียอีกด้วย แม้กับคนที่ออมเงินไว้เยอะมากแล้ว แต่ถ้าทุกวัน ๆมีแต่รายจ่ายเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ พวกเขาก็จะรู้สึกใจหาย แม้รู้ว่าถึงควักเงินออกไปยังไงเสียก็ยังไม่หมดไปได้โดยง่าย แต่สำหรับบางคนที่เมื่อรู้ว่า เมื่อควักเงินก้อนนี้ออกไป มันจะหมดลงทันที เพราะเป็นเงินก้อนสุดท้ายแล้ว พวกเขาจะรู้สึกใจหายขนาดไหนกันหนอ

 

 ถึงตอนนี้คุณก็คงอ่านกันจนตาลาย ส่วนผมก็พิมพ์จนตามัวแล้ว พักสายตากันอีกทีดีไหม
 
 

มาดูข้อมูลกันอีกนิดดีไหม

 
พบว่าคนในวัยเกษียณที่ได้รับเงินจากที่ต่าง ๆรวมกันแล้วมีรายได้รวมน้อยกว่า 5000 บาทต่อเดือนมีจำนวนร้อยละ 58 ที่อาศัยอยู่ในเมือง และร้อยละ 73 ที่อยู่ในชนบท
 
พบอีกว่าคนแก่ที่อาศัยอยู่ในเมืองร้อยละ 26 และคนแก่ในชนบทร้อยละ 23 ไม่มีเงินออมเลย ต้องพึ่งพิงผู้อื่น หรือไม่ก็ต้องทำงานหาเลี้ยงตัวเองอยู่
 
พบว่าคนในวัยเกษียณที่เก็บเงิน หรือออมเงินไว้ได้น้อยกว่า หนึ่งล้านบาท จะอยู่ตามบ้านนอกถึง 70 เปอร์เซ็น และเป็นคนเมืองเสียร้อยละ 59
แน่นอนคุณอยากรู้ว่ามึคนในวัยเกษียณมากน้อยเท่าไรกันที่มีเงินเก็บมากกว่า หนึ่งล้านบาท คำตอบก็คือ มีคนแก่ในเมืองเพียงร้อยละ 15 และคนแก่ในชนบทอีกแค่ร้อยละ 7 เท่านั้นที่เห็นความสำคัญของการออม จึงเก็บเงินที่ดูเหมือนว่ามากมายเพียงนั้นได้
 

ต้องเก็บเงินให้ได้เท่าไร จึงจะเพียงพอสำหรับใช้ในวัยเกษียณ

 
เมื่อวันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2561 ที่ผ่านมานี้ ทางสำนักงานกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต.  ได้จัดสัมมนาประจำปีขึ้น และให้ข้อมูลกับผู้เข้าร่วมในสัมมนานี้เอาไว้ว่า จำนวนเงินที่เพียงพอที่จะรองรับการใช้จ่ายเมื่อเกษียณในวัย 60 ปีต่อไปอีก 20 ปี คือคาดว่าจะตายเมื่ออายุ 80 ปี คุณจะต้องมีการออม หรือเก็บเงินให้ได้อย่างน้อย 3 ล้านบาท นั่นหมายถึงเงินจำนวนนี้จะเอาไว้ใช้จ่ายเป็นระยะเวลา 240 เดือน คิดเป็น 12500 บาทต่อเดือน หรือคิดให้แคบลงมาอีกนิดหนึ่งก็ผู้อยู่ในวัยเกษียณที่สามารถเก็บเงินได้ขนาดนี้จะมีเงินใช้จ่ายได้เพียงวันละ  400 บาทเท่านั้นเองนะจ๊ะ บางคนบอกว่าสบายมาก วันละร้อยก็อยู่ได้แระ อย่าเพิ่งชะล่าใจไปครับ อีกสิบปีข้างหน้าข้าวราดแกงอาจขึ้นราคาไปเป็นจานละสองร้อย ที่กำหนดให้ใช้นั้นก็กินได้แค่ 2 มื้อต่อวันเองนะครับ ถ้าเหตุการณ์มันรุนแรงยิ่ง อาจต้องแบ่งส่วนหนึ่งไปซื้อข้าวสาร อีกส่วนหนึ่งไว้ไปซื้อน้ำปลาเอาไว้คลุกข้าวกิน ถ้าเจ็บป่วยก็ใช้บัตรทอง จะเดินทางก็ใช้รถเมล์ฟรี จริง ๆก็พออยู่ได้เนอะ
 
คนที่ยังไม่ได้เริ่มเก็บเงิน หรือเริ่มแล้วแต่ยังมีน้อยอยู่ก็อย่าเพิ่งท้อใจไป อดทนเข้าไว้เพื่ออนาคตอันสดใส สำหรับผมเองเริ่มโปรเจคการออมเงินมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ตอนนี้ขาดอีกเพียง 17 บาทก็จะครบ 300 บาทแล้ว ไม่เลวเลยใช่มั๊ยล่ะ สำหรับคนที่ทำงานมานับสิบปีโดยไม่รับเงินเลย เห็นมะ ไม่ยากสส์
 
คุณอ่านมาถึงบรรทัดนี้ได้ แสดงว่าคุณมีความพยายามเป็นเลิศ ผมจึงเชื่อใจคุณได้ว่า คุณจะสามารถเก็บเงินได้ตามประสงค์ และเมื่อเก็บเงินได้แล้ว โปรดใช้จ่ายด้วยความระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นจะเข้าข่ายว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ตายก่อนใช้เงินหมด และเป็นเรื่องน่าสลดที่ใช้เงินหมดก่อนตาย

สำหรับวันนี้ฝันดี ราตรีสวัสดิ์ครับผม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *