ปัญหาชวนสังเวชของเด็กไทย กับปัญหาน่าหวั่นใจของเด็กมะกัน

ปัญหาที่เกิดกับเยาวชนในแต่ละประเทศนั้น ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ลำพังหากมองปัญหาอย่างกว้าง ๆหลายคนก็เห็นว่ามันเป็นปัญหาทั่วไปเช่น ปัญหาครอบครัว ปัญหาการเรียน ปัญหาความรัก ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสุขภาพ ปัญหาความปลอดภัย ซึ่งเมื่อฟังดูแล้วก็อาจรู้สึกเฉย ๆหากมันไม่ได้เกิดกับตัวเรา หรือสมาชิกในครอบครัวของเรา แต่ถ้าเราเจาะจงเข้าไปในปัญหาที่กำลังฮอทร้อนแรงในสังคมโลก ปัญหาในหัวข้อเดียวกัน จะเป็นคนละเรื่อง และคนละสาเหตุ เราลองมาพิจารณาปัญหาสักหัวข้อหนึ่ง คือปัญหาความปลอดภัยเปรียบเทียบกันระหว่างของเด็กไทย และเด็กอเมริกัน

ข่าวสารที่ถูกส่งออกมาอย่างอึกทึกครึกโครมที่เกี่ยวกับการกราดยิงเข้าไปในโรงเรียนมัธยม หรือในมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในรัฐต่าง ๆของสหรัฐอเมริกา ซึ่งในแต่ละครั้งมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก การกราดยิงเข้าไปในโรงเรียนมัธยมเมืองปาร์คแลนด์ รัฐฟลอริดา มีคนตาย 17 คน ทั้ง ๆที่โรงเรียนนี้เพิ่งมีการซ้อมอพยพเมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นในโรงเรียนไปในตอนเช้าวันที่เกิดเหตุ ในขณะเกิดเหตุมีสัญญาณเตือนภัยดังขึ้น แต่มีนักเรียนจำนวนมากคิดว่าเป็นการซ้อม จึงทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

ที่นิวทาวน์ รัฐคอนเน็คทิคัต อดัม แลนซา ฆ่าแม่ตัวเองก่อนบุกเข้าไปในโรงเรียนประถมแซนฮุก และกราดยิงไปในโรงเรียน เป็นผลทำให้เด็กน้อย 6-7 ขวบเสียชีวิตถึง 20 คน มีครู และพนักงานในโรงเรียนเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้อีก 6 คน

เชียฮุยโซ นักศึกษาชาวเกาหลีใต้ กราดยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย มีนักศึกษาเสียชีวิตถึง 32 คน นี้เป็นเหตุการณ์ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกนับสิบเหตุการณ์ ที่แต่ละครั้งมีคนตายไปเป็นจำนวนมากในสหรัฐอเมริกา มีอีกหลายเหตุการณ์ทีเกิดขึ้นนอกสถานศึกษาเช่น ในงานคอนเสิร์ต ในไนต์คลับ แม้ผู้เสียชีวิตจะไม่ใช่เยาวชน แต่ก็สร้างความหวาดวิตกให้กับผู้คนในสังคมเป็นอย่างมาก

ในแต่ละครั้งพบว่ามีผู้ก่อเหตุเพียงคนเดียว และจากการวิเคราะห์ถึงสาเหตุ ก็ได้ความเห็นมาในแนวนี้ว่า อาจเป็นเพราะ ปัญหาด้านบุคลิกภาพของผู้ก่อเหตุเองที่ เป็นผู้ก้าวร้าว โมโหง่าย ชอบเอาชนะ ไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และจากข้อมูลที่สำคัญที่ว่าผู้ก่อเหตุมักเป็นเพศชาย ที่เมื่อฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนมีระดับที่สูงขึ้นมาก เป็นผลให้มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง นอกจากนี้มีการวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมการเลียนแบบในกลุ่มคนที่มีอารมณ์ไม่ค่อยปกติว่า เมื่อเห็นคนที่แสดงอาการก้าวร้าว แล้วพบว่าได้รับการยอมรับ และพูดถึง ทำให้เกิดการเชื่อมโยงไปในทางที่ผิดว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำ ผู้ที่ก่อเหตุมักจะรู้สึกว่าตัวเองถูกรังแกจากสังคม จึงหาหนทางที่จะระบายความกดดันนั้นออกมา ปัจจัยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า weapons effect เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ทำเหตุรุนแรงอันเกิดมาจากการได้เห็นอาวุธปืน หรือเพียงแค่เห็นภาพเท่านั้น ก็สามารถนำไปสู่เหตุการณ์ที่รุนแรงได้ อันนี้เป็นฟากฝั่งสหรัฐซึ่งทุกฝ่ายต่างพยายามหาทางรับมือกับสถานการณ์รุนแรง ตั้งแต่การซ้อมเพื่ออพยพหนีภัย การสังเกตพฤติกรรม มีความพยายามที่จะควบคุมอาวุธปืน และเมื่อเร็ว ๆนี้ก็มีการแจกจ่ายโล่ห์กันกระสุน (  Bulletproof ) ในรัฐเพนซิลวาเนีย ให้เป็นของขวัญแก่นักเรียนเนื่องในโอกาสจบการศึกษา และกำลังจะขึ้นเรียนในเกรด high school ซึ่งก่อนหน้านี้ในโรงเรียนต่าง ๆได้มีการนำสินค้านี้มาจัดจำหน่ายแก่นักเรียน แม้แต่ในเว็บไซต์ดัง ๆ อย่าง amazon ก็มี bulletproof ให้เลือกซื้อหากันอย่างครึกโครม ทั้งในรัฐฟลอริดา โอกลาโฮมา และทั่วทั้งประเทศ มีการคาดการณ์กันว่ามีมูลค่าถึง 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีที่แล้ว

ทีนี้มาดูทางบ้านเราบ้าง ปัญหาการตีกันของนักเรียนวัยรุ่นมีมาอย่างต่อเนื่อง และยาวนานไม่จบสิ้น เดิมทีเดียวก็จะเป็นนักเรียนชายในสายช่างต่างโรงเรียน หรือต่างวิทยาลัยกัน อาวุธก็เป็นเพียงไม้ที และสองมือเปล่าที่ยกขึ้นมาชกต่อยกัน ตามประสาหนุ่มเลือดร้อน ครั้งหลัง ๆก็จะมีทั้งมีดสปาต้า อาวุธปืน หรือแม้กระทั่งระเบิด สถานการณ์ลุกลามเข้าสู่โรงเรียนในสายสามัญ และที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดก็คือ มีการใช้ความรุนแรงในกลุ่มวัยรุ่นหญิงมากขึ้น มีการตบโชว์กันผ่านทางเฟสบุ๊ค หรืออาจมีการไลฟ์สดกันเลย

พฤติกรรมการใช้ความรุนแรงของวัยรุ่นไทยที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิต แตกต่างกับที่เกิดกับวัยรุ่นอเมริกันอย่างเห็นได้ชัด ตรงที่ว่าผู้ก่อเหตุทางฟากสหรัฐอเมริกาจะเป็นชายคนเดียว ซึ่งอาจมีปัญหาทางด้านอารมณ์ หรือปัญหาอะไรก็สุดแล้วแต่ ในขณะที่วัยรุ่นไทยที่ประสบปัญหา ถ้าอยู่ลำพังคนเดียว ก็อาจเก็บความไม่พอใจไว้กับตัวไว้ได้โดยไม่สร้างความรุนแรงแต่อย่างใด แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่เกิดการรวมกลุ่มกันขึ้นมาแล้วละก็ จะแสดงออกถึงความไม่พอใจได้อย่างเปิดเผย วิจารณ์กันได้อย่างถึงพริกถึงขิง และแสดงออกถึงความเป็นกลุ่มก้อนกลมเกลียวพร้อมที่จะไปไหนไปกันได้ทุกเมื่อ พฤติกรรมอย่างนี้เขาเรียกว่า in-group-out-group bias ทำให้เห็นการใช้ความรุนแรงในวัยรุ่นไทยจึงมักจะแสดงออกในรูปของการยกพวกตีกัน ด้วยเพราะเห็นว่ากลุ่มของตนดีกว่า กลุ่มอื่น ๆด้อยกว่า หากมีกลุ่มอื่นมาเหยียดหยามกลุ่มของตนขึ้นมา การใช้ความรุนแรงก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า แน่นอนว่าการปะทะกันของคนสองกลุ่มในรุ่นถัดมา ก็ยังคงมีไปอย่างต่อเนื่องจนดูเหมือนว่าคงจะไม่มีวันจบสิ้น

หน่วยงานต่าง ๆก็คงจะพยายามหาทางแก้ปัญหาเหล่านี้ แต่ก็ดูเหมือนว่าเรื่องราวเดิม ๆก็ยังคงวนเวียนเพียงแต่เปลี่ยนตัวละครเป็นเด็กรุ่นใหม่ ๆแทน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะแก้ปัญหายาก ๆอย่างนี้ เพราะแม้แต่ปัญหาที่น่าจะแก้ไขได้ง่ายกว่าอย่างเรื่อง ลืมเด็กนักเรียนไว้ในรถโรงเรียน จนต้องตายไปเสียหลายต่อหลายราย ก็มีทีท่าว่าจะแก้ไขไม่ได้เอาเสียแล้ว ดูทีน้องนั่งอยู่ข้างคนขับแท้ ๆก็ยังมีกะจิตกะใจลืมกันได้ลงคอ ผมถึงว่าเป็นเรื่องที่น่าสังเวชใจกับปัญหาเด็กไทยในวันนี้เสียจริง ๆ

สำหรับวันนี้ฝันดี ราตรีสวัสดิ์ ครับผม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *