วัตถุประสงค์ของการใช้แสง สำหรับใคร เพื่ออะไร ตรงไหน อย่างไร

 

วัตถุประสงค์ของการใช้แสง ยังคงเป็นสิ่งแรกที่ควรคำนึงถึงเมื่อมีความต้องการจะออกแบบแสง ให้ได้คุณภาพดี และมีปริมาณที่เหมาะสม ด้วยคำถามพื้นฐานง่าย ๆเลยว่า แสงนี้มีไว้สำหรับใคร คุณปู่ คุณย่า หรือหลานน้อยจอมซน เพื่อใช้ทำอะไร เป็นพื้นที่ทำงาน หรือเป็นพื้นที่พักผ่อน อยู่ส่วนไหนของตัวบ้าน ข้อมูลเล็กน้อยนี้ ทำให้เราได้คำตอบดั่งเช่นว่า เป็นห้องสำหรับคุณปู่ คุณย่าเพื่อพักผ่อน อยู่ชั้นล่างที่หันหน้าไปทางทิศเหนือ จากนั้นจึงค่อย ๆคิดว่าจะทำอย่างไร ให้ห้องนี้ดีที่สุดสำหรับคุณปู่ และคุณย่า อย่างเป็นขั้นเป็นตอนไป

แสงสำหรับการพักผ่อน

การพักผ่อนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการนอนหลับแต่เพียงอย่างเดียว มันได้รวมเอาเรื่องของการผ่อนคลายเข้าไปด้วย บ้านหลายหลังจึงนิยมให้มีพื้นที่โล่งสำหรับสมาชิกในครอบครัวมาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่นทานอาหาร ทำงานอดิเรก ดูทีวี เล่นเกมส์ พูดคุย เพื่อเป็นการผ่อนคลาย หรือแม้แต่เป็นที่พบปะสังสรรค์ในหมู่เพื่อนฝูงของสมาชิกบางคนในครอบครัวก็ได้ พื้นที่ส่วนนี้จึงถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นห้องเอนกประสงค์ ด้วยเหตุที่มีการใช้งานอย่างหลากหลาย การออกแบบแสงสว่างในพื้นที่ส่วนนี้ควรมีความยืดหยุ่น และให้สอดคล้องกับเฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆที่มีอยู่ การเลือกโคมเพื่อให้แสงสว่างจะให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน โคมไฟเหล็กเปลือยจะให้กลิ่นอายของความร่วมสมัย ในขณะที่ต้องการความหรูหรา โคมระย้าก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ในพื้นที่ส่วนที่จะใช้ทานอาหารร่วมกัน อาจสร้างจุดที่จะดึงดูดสายตาไว้ในส่วนที่เป็นโต๊ะอาหารโดยการห้อยโคมลงมาจากเพดาน ให้ดวงโคมอยู่เหนือโต๊ะสัก 80 เซนติเมตร ลำแสงถูกบังคับให้พุ่งตรงมายังอาหารบนโต๊ะด้วยโคม หากว่านิยมใช้หลอดไฟแบบเปลือยก็ควรจำเป็นต้องติดตั้งให้สูงกว่านี้ เพราะลำแสงจะกระจายไปทุกทิศทาง และอาจไปแยงตาได้

สำหรับห้องนอน การให้แสงสว่างก็ควรมีความยืดหยุ่นเช่นกัน หากเป็นห้องนอนของคนคนเดียว กิจกรรมที่เกิดขึ้นมักไม่ซับซ้อน นอกจากแสงสว่างหลักที่สามารถให้ความสว่างไปทั่วทั้งห้องแล้ว ควรเพิ่มโคมไว้บริเวณหัวเตียง หรือด้านข้างเพื่อให้ความสว่างเมื่อต้องทำกิจกรรมในยามนอนไม่หลับ สวิทช์เปิด/ปิดโคมควรอยู่ใกล้มือเพื่อจะได้ไม่ต้องลุกออกไปจากเตียง ในกรณีที่เป็นห้องนอนของคนมากกว่าหนึ่ง จำเป็นต้องติดตั้งโคมไว้สองตำแหน่งเพื่อเป็นสมบัติส่วนตัวของแต่ละคน คนที่ต้องการนอนก็จะปิดโคมของตัวเอง ส่วนคนที่ยังมีกิจกรรมอื่น เช่นอ่านหนังสือก่อนนอน ก็จะเปิดโคมส่วนตัวที่จะไม่ไปรบกวนคนข้างเคียง การเลือกโคมสำหรับกรณีนี้ ควรเลือกโคมที่สามารถปรับทิศทางของแสงได้ แสงสว่างหลักควรเป็นระบบไฟหรี่ เพื่อจะได้รบกวนคนข้างเคียงให้น้อยที่สุด

แสงสำหรับการทำงาน และใช้สอย

พื้นที่สำหรับการทำงาน และใช้สอยในกิจกรรมต่าง ๆ ควรออกแบบแสงให้มีความสว่างไสวเพื่อกระตุ้นให้เกิดความสนใจ และความตั้งใจ ให้รู้สึกตื่นตัวว่าอยากจะทำงาน นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากการทำงาน ซึ่งพื้นที่หลักเพื่อใช้ทำงานในบ้านได้แก่ ห้องทำงาน ห้องครัว และห้องน้ำ การออกแบบแสงในส่วนนี้ควรผสมผสาน รูปแบบการให้แสง เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดแสงจ้า หรือการเกิดเงาที่จะไปทับซ้อนบนพื้นที่การทำงาน การออกแบบแสงสว่างแบบเน้นเฉพาะจุด ( Focal or Task Lighting ) แต่เพียงอย่างเดียวจะทำให้บริเวณโดยรอบพื้นที่ทำงานมีความสว่างน้อย หากพบว่ามีความสว่างน้อยกว่าห้าเท่า หมายถึงความสว่างของพื้นที่ทำงานนั้นมีมากกว่าพื้นที่โดยรอบมาก ๆแล้ว จะมีผลทำให้กล้ามเนื้อตาอ่อนล้าอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถจดจ่อกับงานที่ทำได้ เพราะจะคอยมองผ่านไปยังที่มีแสงน้อยกว่าตลอดเวลา จึงมีการออกแบบให้มีส่วนผสมของแสงแบบที่เรียกว่า Ambient lighting เพื่อทำให้พื้นที่โดยรอบมีความสว่างเพิ่มมากขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง การเลือกใช้หลอดไฟ และตำแหน่งของมันเป็นสิ่งที่ควรคำนึง ไฟกิ่งติดผนัง หรือโคมแบบตั้งโต๊ะดูไม่เหมาะกับการใช้งานในห้องครัวนัก ในขณะที่รูปแบบของไฟซ่อนใต้ตู้ลอยจะทำหน้าที่ได้ดีกว่า การวางตำแหน่งของดวงไฟให้ค่อนมาทางด้านหลังของผู้ใช้จะทำให้เกิดเงาบนพื้นที่ทำงาน ดังนั้นควรย้ายตำแหน่งให้ดวงไฟค่อนมาทางด้านหน้าจะดีกว่า

หากเป็นห้องทำงาน ควรเลือกใช้โคมแบบตั้งโต๊ะที่สามารถปรับทิศทางได้ โดยวางไว้ด้านซ้ายมือของคนที่ถนัดขวาเพื่อป้องกันการเกิดเงาที่จะทำให้ทำงานไม่สะดวก ควรออกแบบแสงให้มีการหลีกเลี่ยงแสงจ้า หากเป็นแสงธรรมชาติทำโดยการติดตั้งมู่ลี่ หรือผ้าม่าน หากเป็นดวงไฟ ก็ติดโคมที่ทำจากผ้าจะช่วยได้มาก กรณีที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการทำงาน ควรเลือกรูปแบบการให้แสงเป็นแบบเน้นเฉพาะจุด โดยติดตั้งดวงไฟให้ตกกระทบมาเฉพาะบริเวณแป้นพิมพ์ ไม่ใช่ส่วนที่เป็นหน้าจอ

แสงสำหรับพื้นที่รอบบ้าน

พื้นที่ที่ไม่ได้ทำเป็นห้อง หรือเป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกใช้งานในระยะเวลานาน เช่นทางเดิน บันได ห้องเก็บของ ตู้เสื้อผ้า ห้องใต้ดิน พื้นที่เหล่านี้มักถูกละเลยในเรื่องการให้แสงสว่าง แน่นอนว่ามีบ่อยครั้งที่จะทำเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากมีแสงสว่างไม่เพียงพอ การฝังดวงไฟไว้ตามขั้นบันได หรือติดไฟซ่อนตรงผนังทางเดินในระยะที่เหมาะสม พร้อมระบบควบคุมความไวแสงนั้นเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เมื่อคุณก้าวขึ้นบันได หรือทางเดิน แล้วปรากฏว่ามีแสงทอดยาวเป็นระยะไปตลอดแนวผนัง น่าจะสร้างความพึงพอใจให้กับคุณได้ไม่น้อย เช่นเดียวกันกับทันทีที่คุณเปิดตู้เสื้อผ้า ก็จะมีแสงจากหลอดไฟที่ทำให้คุณมองเห็นสิ่งของภายในตู้ เหมือนกับตอนคุณเปิดตู้เย็นอย่างไรอย่างนั้น

การออกแบบแสงสว่างบริเวณทางเดินให้มีรูปแบบที่ให้แสงสว่างอย่างสม่ำเสมอตลอดแนว จะทำให้ทางเดินนั้นขาดมิติ และไม่น่าสนใจเท่ากับการฝังหลอดไฟไว้ที่พื้น หรือติดไฟซ่อนไว้ที่ผนังตลอดแนวทางเดิน การแสดงผลงานทางศิลปะเช่น ภาพเขียนที่ประกอบด้วยไฟตกแต่งเพื่อความสวยงาม ที่เรียกว่า Decorative Lighting  เป็นการสร้างความตื่นตาในยามค่ำคืนให้กับผู้มาเยือนได้เกิดความประทับใจอย่างไม่รู้ลืม

บางครั้งเจ้าของบ้านอยากโชว์ความงดงามในบางจุดของตัวบ้านในยามค่ำคืน ก็สามารถใช้ศิลปะแห่งแสงช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับมันได้ไม่ยากนัก ในการติดตังหลอดไฟ หรือโคมนอกตัวบ้าน พึงระวังเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างมาก ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำในการเลือกอุปกรณ์ที่เหมาะสมทนแดด ทนฝนได้เป็นอย่างดี สำหรับวันนี้ ฝันดี ราตรีสวัสดิ์ดังเช่นเคยครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *