พหุภพ ( Multiverses ): ดินแดนเหนือสายรุ้ง กับทฤษฏี Infinite Universes

พหุภพ ( Multiverses ) คืออะไร มีข้อความที่ถูกเขียนไว้ชวนให้คิดที่ว่า “ถ้าเราอยู่ในที่ที่เราอยู่ เราจะพบกับตัวเอง แต่หากเราไปให้ไกลพอ เราจะพบมัน ที่ไหนสักแห่ง… เหนือสายรุ้งนั้น ยังมีดินแดนมหัศจรรย์คอยอยู่”  มีการตั้งคำถามที่ว่า จักรวาลของเราตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวหรือไม่ จากนิยายวิทยาศาสตร์มุ่งไปสู่ความเป็นจริง ได้มีแนวคิดที่แสดงให้เห็นว่า น่าจะมีจักรวาลอื่น ๆ นอกเหนือจากจักรวาลที่เราอาศัยอยู่  แนวคิดนี้เป็นที่รู้จักกันว่าเป็น เอกภพคู่ขนาน parallel universe มีความเชื่อของนักฟิสิกส์สมัยใหม่ว่า เอกภพของเราอาจเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆส่วนหนึ่งในพหุภพ ที่มีการขยายตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในขณะเดียวกันกับ มีการแตกดับไปในบางส่วนของมัน ที่เกิดขึ้นอย่างตลอดเวลา

บนพหุภพอันกว้างใหญ่ชวนให้น่าเกรงขามนั้น ยังมีกลุ่มบุคคลผู้หลงใหล ซึ่งมีพื้นฐานที่ดีด้านฟิสิกส์สมัยใหม่อยู่เบื้องหลัง ได้เชื่อว่าการมีอยู่ของจักรวาลที่ซ่อนเร้นนั้นมีแนวโน้มว่าจะเป็นจริง ต่อไปนี้เป็นทฤษฏีหนึ่งที่น่าเชื่อถือ ที่จะบอกว่า เรากำลังอาศัยอยู่ในเอกภพหนึ่งบนทางช้างเผือก ที่ล่องลอยอยู่บนอาณาจักรแห่งดวงดาวอันยิ่งใหญ่ไพศาลเกินกว่าจะประมาณได้

ทฤษฏีจักรวาลไม่มีที่สิ้นสุด ( infinite universes )

ในขณะที่เรายังคงคุ้นเคยกับโลกใบเดิมที่มีสามมิติ (พื้นที่ : กว้าง ยาว สูง) จนกระทั่ง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้เสนอแนวคิดที่ว่า ความสัมพันธ์ของวัตถุต่าง ๆในจักรวาลจะมีเวลามาเกี่ยวข้องด้วย โดยบัญญัติคำว่าspace-time ขึ้นมา พร้อมกับสมการทางคณิตศาสตร์ (ทฤษฏีสัมพันธภาพทั่วไป) ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ว่าง และเวลา นั่นหมายความว่า เขาไม่ได้มองพื้นที่ว่าง กับเวลาแยกออกจากกัน แต่เขากลับรวมมันทั้งสองเข้าด้วยกัน เขาได้กล่าวถึงอวกาศว่า มันไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่ว่างเปล่าเท่านั้น แต่มันประกอบไปด้วยผืนผ้าขนาดใหญ่ที่ยับย่น ขึ้นอยู่กับมวลของวัตถุที่อยู่ในอวกาศนั้น ผืนผ้าขนาดใหญ่นี่แหละที่เรียกว่า space-time ซึ่งเรื่องนี้เป็นหนึ่งในความรู้ของ ฟิสิกส์สมัยใหม่ ที่ทำความเข้าใจได้ยากที่สุดเรื่องหนึ่ง

space time อธิบาย พหุภพ

เอาเป็นว่าเราเชื่อเสียก่อนว่า space-time มีจริง นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถระบุได้ว่ามันมีรูปร่างอย่างไร แต่ก็อนุมานว่า space-time น่าจะแบน คือไม่เป็นรูปทรงกลม หรือไม่แม้แต่จะเป็นรูปร่างของขนมโดนัท ตัวมันเองจะขยายเหยียดยาวไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด จากพฤติกรรมของมันที่เหยียดยาวออกไปเรื่อย ๆนี้ ถ้ายังคงดำเนินอยู่ต่อไป แน่นอนว่าจะต้องมีสักครั้ง (ที่จริงต้องมีมากมายครั้ง) ที่บางจุดจะมีองค์ประกอบที่ซ้ำกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในที่นี้หมายถึง จำนวนวิธีการจัดเรียงอนุภาคใน space-time ที่มีจำนวนวิธีที่จำกัด (แม้ว่ามันจะเป็นจำนวนวิธีมากมายเพียงใดก็ตาม แต่ก็รู้ได้ว่า มันก็มีอยู่อย่างจำกัด เมื่อเทียบกับพื้นที่ว่าง-เวลาที่มีอยู่เป็นอนันต์ ) หากจะทำความเข้าใจ อาจใช้วิธีนึกคิดอย่างง่าย ๆ โดยกางผ้านวมสีดำผืนใหญ่ออกมา แล้วหาเข็มหมุดที่หัวเข็มมีสีต่าง ๆกัน และนำมันปักไปบนผืนผ้านวมสีดำนั้นเรื่อย ๆไป ในขณะที่เราปักเข็มหมุดสีต่าง ๆอยู่นั้น ผ้าห่มนวมสีดำก็ขยายตัวใหญ่ขึ้น ๆไปเรื่อย ๆ และในที่สุดหากเราจะปักเข็มหมุดอีกต่อไป จะมีสักครั้งหนึ่งแหละที่เราหาเข็มหมุดที่มีสีแตกต่างจากเดิมไม่ได้อีกแล้ว ดังนั้นเราจะต้องปักเข็มหมุดที่มีสีซ้ำกับเข็มหมุดที่เคยปักลงไปแล้ว และแน่นอนว่าในตำแหน่งอื่น ๆก็จะมีจุดที่ซ้ำอย่างนี้อีกครั้ง และอีกครั้งเรื่อย ๆไป นี้เป็นตัวอย่างที่กำหนดเงื่อนไขไว้เพียงเรื่องสีของเข็มหมุดเพียงอย่างเดียว เพื่อให้มองเห็นภาพได้ง่าย และเร็วขึ้น แต่เงื่อนไขในจักรวาลอันกว้างใหญ่นั้นมันมีอยู่อย่างมากมาย ดังนั้นการจะเกิดองค์ประกอบที่ซ้ำกัน มันเป็นไปได้ยากกว่ามากนัก แต่ก็ยังมั่นใจได้ว่ามันจะต้องมีบางจุดบน space-time ที่จะซ้ำกันอย่างแน่นอน

ดังนั้นหากคุณสามารถขึ้นไปได้ไกลมากพอ คุณจะพบกับอีกเวอร์ชั่นหนึ่งของตัวคุณเอง และหากคุณยังขึ้นไปให้ไกลกว่านั้นอีก คุณก็จะพบกับอีกเวอร์ชั่นของตัวคุณอีกครั้ง ในโลกใบนี้คุณรู้ว่ามีฮิตเลอร์ที่แพ้สงครามโลกครั้งที่สอง แต่ในโลกอีกใบหนึ่งคุณอาจพบกับฮิตเลอร์ในเวอร์ชั่นที่ชนะสงคราม และหากคุณไปได้ไกลกว่านั้นคุณจะพบกับฮิตเลอร์ ในเวอร์ชั่นที่เป็นผู้นำในการต่อต้านการทำสงครามก็ได้ใครจะไปรู้ มีอีกทฤษฎีที่เรียกว่า Eternal Inflation ที่จะอธิบาย พหุจักรวาลได้อย่างน่าเชื่อถือ ไปตาม ลิงค์  นี้ได้เลยครับ

นี้เป็นเพียงทฤษฏีหนึ่งในหลาย ๆทฤษฏีที่น่าทำให้เชื่อได้ว่า พหุภพ มีจริง ความเชื่อในเรื่องหลายจักรวาลนี้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ไกลตัว แต่ด้วยเหตุที่มันมีเสน่ห์อันลึกลับอย่างนี้นี่เอง หลาย ๆคนจึงมิอาจทนเพิกเฉยที่จะไม่ทำการค้นหา หากคุณมีเวลาว่าง ลองหาหนังสือ หรือบทความดี ๆ เกี่ยวกับ จักรวาลวิทยา มาอ่าน ค่อย ๆทำความเข้าใจ บางครั้งบางขณะ อาจทำให้เราสามารถสลัดปัญหาต่าง ๆ แม้กระทั่งกาย และใจออกไป ด้วยคิดว่าเราเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เมื่อเทียบกับความกว้างใหญ่ไพศาลของอาณาจักรแห่งดวงดาวนี้ นั่นสินะมันจะอะไรกันนักกันหนาเชียว

ผมยังอยากจะจบบทความนี้ด้วยข้อความนี้จัง

สำหรับวันนี้ ฝันดีราตรีสวัสดิ์ครับผม

3 thoughts on “พหุภพ ( Multiverses ): ดินแดนเหนือสายรุ้ง กับทฤษฏี Infinite Universes

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *