คำสั่งซื้อ(Long) คำสั่งขาย(Short) ในฟอเร็กซ์ และการคำนวณกำไร ขาดทุน

การซื้อ และการขาย

แนวคิดพื้นฐานของการซื้อขายในตลาดฟอเร็กซ์ก็คือ การซื้อที่ราคาต่ำ และขายในราคาสูง ซึ่งอาจฟังดูแปลก สำหรับมือใหม่ในตลาดฟอเร็กซ์ที่ว่า เราจะขายสิ่งที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของได้อย่างไร หากคุณขายคู่สกุลเงินคู่หนึ่งนั่นหมายถึงว่า คุณกำลังขายสกุลเงินหลัก (สกุลเงินตัวแรกในคู่) และกำลังซื้อสกุลเงินอ้างอิง (สกุลเงินตัวหลังในคู่)

ในกรณีตัวอย่างที่ไม่ใช่ฟอเร็กซ์ การขาย(short) ดูเหมือนจะสร้างความสับสนเล็กน้อยเช่น ถ้าคุณขายสินค้าโภคภัณฑ์ (โดยคุณไม่มีสินค้า) แนวคิดพื้นฐานคือ นายหน้าซื้อขายของคุณจะให้คุณยืมสินค้าเพื่อเอาไปขายก่อนในราคาที่สูงกว่า และคุณจะต้องซื้อมันคืนกลับมาในภายหลังในราคาที่ต่ำกว่าเพื่อปิดการทำธุรกรรม และส่งคืนให้กับนายหน้าของคุณ

คำสั่งซื้อ (long) คำสั่งขาย (short) ในฟอเร็กซ์ และการคำนวณกำไร ขาดทุน

Long and Short

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาดฟอเร็กซ์ก็คือ คุณจะมีความสามารถในการทำกำไรในตลาดทั้งขาขึ้น และขาลง ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คุณไม่สามารถทำแบบนี้ได้ในตลาดหุ้นทั่วไป ซึ่งใครก็ตามที่ได้ทำการซื้อ/ขายมาสักพักหนึ่ง จะเรียนรู้ที่จะซื้อ/ขาย และทำกำไรได้ทั้งภาวะตลาดขาขึ้น และตลาดขาลง

Long (การซื้อ) เมื่อเราเปิดคำสั่ง Long นั่นหมายถึงเรากำลังซื้ออยู่ในตลาด ด้วยความหวังที่ว่า ให้ราคาของตลาดเพิ่มขึ้น เพื่อที่เราจะได้ขายคืนในราคาที่สูงกว่าที่เราซื้อมา หากเราเปิดคำสั่ง Long ในคู่เงิน EUR/USD และปรากฏว่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ นั่นหมายถึงเราอยู่ในภาวะที่ทำกำไร

Short (การขาย) เมื่อเราเปิดคำสั่งขาย นั่นหมายถึงเรากำลังขายคู่เงินในตลาดอยู่ โดยหวังว่าให้ราคาคู่เงินนั้นมีราคาที่ลดลง เพื่อที่เราจะได้ทำการซื้อคืนได้ในราคาที่ต่ำกว่าที่เราได้ขายไป หากเราเปิดคำสั่ง short ในคู่เงิน EUR/USD และต่อมา EUR อ่อนตัวลง เมื่อเทียบกับ USD เราก็จะอยู่ในสภาวะที่ทำกำไร

ประเภทของคำสั่ง

ต่อไปนี้เป็นการรวบรวมชนิดของคำสั่ง เมื่อคุณจะทำการซื้อ/ขายในตลาดฟอเร็กซ์ คุณจะต้องทำการออก ‘คำสั่ง (order)’ ซึ่งมีชนิดของคำสั่งที่แตกต่างกัน ซึ่งในแต่ละโบรกเกอร์จะมีคำสั่งพื้นฐานที่เหมือนกัน และในบางโบรกเกอร์อาจมีคำสั่งพิเศษ ที่ไม่มีในโบรกเกอร์อื่น ๆ ซึ่งในบทความนี้จะกล่าวถึงคำสั่งทั้งหมด

คำสั่ง ที่ใช้ในตลาดฟอเร็กซ์

Limit Entry Order (คำสั่งจำกัดราคาการเข้าซื้อ/ขายในตลาดฟอเร็กซ์)

เป็นคำสั่งที่ไปจำกัดราคาการเข้า ซื้อ/ขายล่วงหน้าเช่น หากราคาปัจจุบันของ EUR/USD อยู่ที่ 1.3100 และคุณต้องการขายคู่นี้ที่ 1.3250 (คุณคาดว่าเมื่อราคาไปแตะที่จุดนี้แล้ว มันจะร่วงลง) คุณสามารถที่จะวางคำสั่งขาย (limit sell order) ไว้ล่วงหน้า และเมื่อตลาดไปแตะที่ 1.3250 โบรกเกอร์ก็จะส่งคำสั่ง short (ขาย) เข้าไปในตลาดให้ทันที คำสั่งที่เป็น limit sell order จะถูกวางในราคาที่สูงกว่าราคาปัจจุบันเสมอ

และหากคุณต้องการซื้อ EUR/USD ที่ราคา 1.3000 และราคาปัจจุบันของเงินคู่นี้อยู่ที่ 1.3100 คุณสามารถวางคำสั่งซื้อล่วงหน้า (limit buy order) และเมื่อตลาดตกลงไปถึงจุดนี้ ทางโบรกเกอร์ก็จะทำการเปิดคำสั่ง long (ซื้อ) ให้กับคุณทันที เช่นเดียวกัน คำสั่งที่เป็น limit buy order จะถูกวางในราคาที่ต่ำกว่าราคาปัจจุบันเสมอ

สรุป

Limit sell order

คุณคาดการณ์ว่า ราคาจะขึ้นไปถึงจุดหนึ่ง ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้แล้ว ราคาจะกลับหัวลง ให้เปิดคำสั่ง short (ขาย) ไว้ที่จุดนี้ รอราคาไหลลง

Limit buy order

คุณคาดการณ์ว่า ราคาจะลงไปถึงจุดหนึ่ง ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้แล้ว ราคาจะกลับหัวขึ้น ให้เปิดคำสั่ง long (ซื้อ) ไว้ที่จุดนี้ รอราคาวิ่งขึ้น

 Stop Entry Order

เป็นการวางคำสั่งซื้อ (long) ไว้เหนือราคาปัจจุบัน หรือเป็นการวางคำสั่งขาย (short) ต่ำกว่าราคาปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องชวนให้สงสัยว่า ทำไมถึงไปวางคำสั่งซื้อไว้ที่จุดที่แพงกว่า ทำไมไม่เข้าซื้อที่ราคาปัจจุบันเลย ทั้งนี้เป็นเพราะ ผู้ลงทุนต้องการให้ราคาทะลุแนวต้านไปเสียก่อน เพื่อให้มั่นใจว่า ราคาจะขึ้นไปต่อ จึงจะทำการเข้าซื้อ (long) โดยวาง buy stop order เข้าสู่ตลาด เช่นเดียวกัน sell stop order จะถูกวางอยู่ต่ำกว่าราคาปัจจุบัน โดยราคานั้นจะทะลุแนวรับไปแล้ว

การวาง stop entry order มักจะทำในช่วงที่ตลาดกำลังได้รับข่าวสำคัญ ซึ่งจะทำให้กราฟผันผวนเร็ว และแรง ที่อาจทำให้นักลงทุนเข้าตลาดได้ไม่ทันท่วงที และช่วยลดเวลาในการติดตามบนหน้าจอลง

สรุป

Buy stop order

อย่างที่เราเข้าใจ เราจะออกคำสั่ง long ก็ต่อเมื่อ เราคาดว่าราคาของคู่เงินนี้จะสูงขึ้นไปต่อ แต่หากราคานั้นยังไปไม่ถึงแนวต้าน หลายคนก็จะไม่มั่นใจว่ามันสามารถจะไปต่ออีกหรือไม่ จึงอาจมีการวางตำแหน่งการซื้อเป็น buy stop order ไว้เหนือแนวต้านเล็กน้อย

Sell stop order

หากราคาของเงินคู่หนึ่งกำลังลดลงต่อเนื่อง และเราต้องการเข้าขาย (short) เมื่อราคาทะลุผ่านแนวรับไปแล้ว เราก็จะวาง sell stop order ไว้ต่ำกว่าราคาปัจจุบัน และอาจต่ำกว่าแนวรับไปเล็กน้อย

คำสั่งหยุดการขาดทุน (stop loss order)

เป็นคำสั่งที่ออกมาเพื่อป้องกันการสูญเสียเพิ่มเติม หากราคามีการเคลื่อนไหวเกินระดับที่ระบุไว้ใน stop-loss order คำสั่งนี้อาจเป็นคำสั่งที่สำคัญที่สุดของการซื้อ/ขาย ในตลาดฟอเร็กซ์ เพราะคำสั่ง stop-loss order จะช่วยให้คุณสามารถควบคุมความเสี่ยง และจำกัดความสูญเสียได้ ซึ่งคำสั่งนี้จะยังคงสถานะนี้ไปจนกว่า คุณจะทำการยกเลิกคำสั่ง หรือเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

Trailing Stop Order

เป็นการวางตำแหน่งเพื่อออกจากคำสั่งซื้อ เมื่อราคาคู่เงินนั้นไปถึงจุดสูงสุด โดยมีระยะห่างของราคาที่แน่นอน ซึ่งเป็นการปล่อยให้ราคาวิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆจนไปถึงจุดสูงสุด และเริ่มลดลงมาถึงจุดที่กำหนด ก็จะทำการขายออกไปได้ทันที เช่นหากเราซื้อคู่เงิน A/B ที่ราคา 1.00000กำหนดจุด trailing stop ไว้ที่ 10%  และเราจะไปให้ราคาไหลขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งเราก็ยังไม่รู้ว่าจุดสูงสุดมันอยู่ตรงไหน แต่ถ้าเมื่อใดก็ตาม ราคาเริ่มตกลงมาจากจุดใดจุดหนึ่งถึง 10% เมื่อไร เราก็จะทำการขายออกไปทันที

GTC (Good-Till-Cancelled)

เป็นคำสั่งที่จะคงสถานะนี้ไว้จนกว่าคุณจะสั่งยกเลิกด้วยตัวของคุณเอง มันไม่มีการหมดอายุ หรือกำหนดเวลาในการทำงาน จนกว่าจะมีคำสั่งยกเลิก ซึ่งควรระวังในการตั้งคำสั่ง GTC ที่เมื่อคุณตั้งคำสั่งไปแล้ว และลืมมันไป แต่เมื่อเวลาผ่านไปเงื่อนไขดังกล่าวอาจไม่เอื้ออำนวย ให้เกิดผลดีในช่วงเวลานั้น ซึ่งแน่นอนว่าคุณต้องยกเลิกคำสั่งเดิม และตั้งเงื่อนไขใหม่แทน

Good for the Day order (GFD)

คำสั่ง GFD จะยังคงสถานะนี้อยู่ในตลาดจนกระทั่งตลาดปิด ซึ่งคำสั่งนี้ก็จะหมดอายุลง ดังนั้นคุณจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับรู้ถึงเวลาเปิดปิดของตลาด หากเป็นตลาดนิวยอร์กก็จะปิดเวลาห้าโมงเย็นของเวลาท้องถิ่นนั้น แต่อย่างไรก็ดี เวลาหมดอายุที่แน่นอนของคำสั่ง GFD จะขึ้นกับโบรกเกอร์ว่ากำหนดเป็นเท่าไร ดังนั้นคุณควรตรวจสอบกับโบรกเกอร์ของคุณให้แน่ใจเสียก่อน CFD เป็นเครื่องมือที่ซับซ้อน และมีความเสี่ยงสูงในการสูญเสียเงินอย่างรวดเร็ว มีข้อมูลสำคัญที่บ่งชี้ว่า 84 เปอร์เซ็นของบัญชีของนักลงทุนรายย่อย จะสูญเสียเงินเมื่อทำการซื้อขายด้วย CFD ดังนั้นคุณควรพิจารณาว่า คุณเข้าใจการทำงาน CFD ดีพอหรือไม่ และคุณสามารถยอมรับความเสี่ยงในการสูญเสียเงินได้หรือไม่

One Cancels the Other order (OCO)

OCO คือ การอนุญาตให้คุณออกคำสั่งสองคำสั่งพร้อมกัน เป็นคู่ของคำสั่งที่กำหนดว่า หากมีคำสั่งหนึ่งได้ถูกดำเนินการไปแล้ว คำสั่งที่เหลืออยู่จะถูกยกเลิกไปโดยอัตโนมัติทันที ซึ่ง OCO จะเป็นการรวมคำสั่ง stop order และ limit order เข้าไว้ด้วยกันไว้บนแพลตฟอร์มการซื้อ/ขายอัตโนมัติ ซึ่งรูปแบบคำสั่ง OCO จะมีอยู่ในโบรกเกอร์บางราย คุณสามารถใช้คำสั่งนี้ ในกรณีที่คุณคาดการณ์ว่า ราคาจะทะลุผ่านแนวต้าน หรือแนวรับอย่างชัดเจน เพียงแต่ไม่รู้ว่ามันจะไปในทิศทางใด ไม่แน่ใจว่าราคาจะขึ้น หรือลง ดังนั้นจึงจะทำการวางคำสั่งเป็นสองระดับคือ เปิดคำสั่งซื้อเหนือราคาปัจจุบัน และเปิดคำสั่งขายต่ำกว่าราคาปัจจุบัน ซึ่งเทคนิคนี้จะทำให้ คุณสามารถเข้าซื้อเมื่อแนวโน้มตลาดเป็นขาขึ้น และสามารถขายเมื่อแนวโน้มตลาดเป็นขาลง คำสั่งนี้จะช่วยให้คุณสามารถใช้ประโยชน์ จากการเคลื่อนไหวของตลาดที่ค่อนข้างผันผวน ช่วงราคามีความแตกต่างมาก โดยไม่ต้องกังวลกับทิศทางของตลาด

One Triggers the Other order (OTO)

คำสั่งนี้จะมีผลตรงกันข้ามกับคำสั่ง OCO เมื่อมีการดำเนินการในคำสั่งใดคำสั่งหนึ่งไปแล้ว แทนที่จะมีการยกเลิกคำสั่งที่เหลือ แต่คำสั่งแบบ OTO จะคงสถานะคำสั่งที่เหลือไว้ และรอดำเนินการต่อไป

Lot size/Contract size

การลงทุนในตลาดฟอเร็กซ์ การซื้อ/ขายจะถูกอ้างอิงในรูปของ lot ซึ่งจะถูกแบ่งออกเป็น standard lot, mini lot, micro lot, และ nano lot ด้านล่างเป็นตารางแสดงตัวอย่างของประเภท lot size กับจำนวนหน่วยลงทุน

               Lot จำนวนหน่วย
Standard 100000
Mini 10000
Micro 1000
Nano 100

เรารู้อยู่แล้วว่าสกุลเงินวัดกันเป็นจุด และจุดหนึ่งคือ การเคลื่อนไหวของราคาที่เปลี่ยนไปน้อยที่สุดที่สกุลเงินนั้นจะสามารถเคลื่อนไหวได้ ในการสร้างรายได้จากการเคลื่อนไหวของราคาที่เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยนี้ เราต้องทำการแลกเปลี่ยนด้วยเงินก้อนที่ใหญ่กว่า ถึงจะเห็นกำไร (หรือขาดทุน) ได้อย่างมีนัยสำคัญ นี่เป็นที่มาของการใช้ leverage ในการลงทุน และหากคุณยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ โปรดกับไปอ่าน ส่วนที่หนึ่ง และส่วนที่สอง ที่จะอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้

ดังนั้นเรามีความจำเป็นที่จะต้องรู้ว่า ขนาดของ lot size มีผลต่อค่าของ pip เพียงใด ลองดูตัวอย่าง

pip value คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร

ในการซื้อ/ขายคู่เงินในตลาดฟอเร็กซ์ pip value อาจเป็นหัวข้อที่ทำให้เกิดความสับสนได้ง่าย เราอาจจำไว้ง่าย ๆว่า pip เป็นหน่วยวัดสำหรับการเคลื่อนไหวของราคาของสกุลเงิน และเป็นทศนิยมตำแหน่งที่สี่ในคู่สกุลเงินส่วนใหญ่ ตัวอย่างเช่น EUR/USD มีราคาที่เคลื่อนไหวจาก 1.1028 ไปเป็น 1.1029 นั่นคือการเคลื่อนไหวไป 1 pip ในบางโบรกเกอร์ มีการกำหนดราคาเป็นทศนิยม 5 ตำแหน่งเช่น จาก 1.10280 ไปเป็น 1.10295 นั่นคือราคาเคลื่อนไหวไป 1.5 pips

เราจะขาดทุน หรือกำไรมากน้อยเท่าไรขึ้นอยู่กับ คู่เงินที่คุณเทรด และสกุลเงินที่คุณใช้เปิดบัญชี ค่า pip value มีความสำคัญมาก เพราะมีผลต่อความเสี่ยง หากคุณไม่ทราบว่าค่า pip คืออะไร คุณจะไม่สามารถคำนวณหา lot size ที่เหมาะสมกับเงินทุนของคุณ ซึ่งนั่นจะทำให้การลงทุนของคุณ อาจจะเสี่ยงมากเกินไปจนถึงกับสูญเสียเงินทุนทั้งหมด หรือาจจะเสี่ยงน้อยเกินไปจนเห็นผลกำไรไม่ชัดเจน

การคำนวณค่า pip value

สมมติว่า เราเทรดด้วย standard lot ซึ่งครอบคลุม 100000 หน่วยต่อล็อต

pip value = หน่วยที่เล็กที่สุด x lot x contract size

# คู่เงินที่มี USD เป็น quote currency และบัญชีใช้สกุลเงิน USD

คู่เงินที่มีการซื้อขายมากที่สุดในโลก มักเกี่ยวข้องกับเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อ USD เป็นสกุลเงินรายการที่สองของคู่เงิน (quote currency) เช่น EUR/USD GBP/USD AUD/USD NZD/USD จะคำนวณ pip value ได้ดังนี้

จากสูตรคำนวณ pip value = หน่วยที่เล็กที่สุด x lot x contract size

ประเภทบัญชี Contract size lot หน่วยเล็กที่สุด การคำนวณ pip value
standard 100000 1 0.0001 100000x1x0.0001 10 USD
standard 100000 0.1 0.0001 100000×0.1×0.0001 1 USD
mini 10000 1 0.0001 10000x1x0.0001 1 USD
mini 10000 0.1 0.0001 10000X0.1X0.0001 0.1 USD
micro 1000 1 0.0001 1000X1X0.0001 0.1 USD

# กรณีที่ USD เป็น base currency (สกุลเงินตัวแรกของคู่) และบัญชีใช้สกุลเงินเป็น USD

เช่น USD/CAD ให้หารค่า pip value ด้วยอัตราแลกเปลี่ยน USD/CAD เพื่อแปลงค่าเงินดอลลาร์แคนาดาเป็นดอลลาร์สหรัฐ เช่น ซื้อ/ขาย USD/CAD ที่ราคา 1.2500 จำนวน 1 lot size จะได้ pip value ในหน่วยดอลลาร์สหรัฐ ในบัญชีต่าง ๆดังนี้

ประเภทบัญชี ค่า pip value ในหน่วย ดอลลาร์แคนาดา ค่า pip value ในหน่วย ดอลลาร์สหรัฐ
standard 10 CAD 10/1.25 = 8 USD
mini 1 CAD 1/1.25 = 0.8 USD
micro 0.1 CAD 0.1/1.25 = 0.08 USD

# การคำนวณ pip value สำหรับคู่สกุลเงินอื่น

หากคุณเปิดบัญชีในเงินสกุล USD แต่คุณต้องการแลกเปลี่ยน EUR/GBP ต่อไปนี้เป็นวิธีการหา pip value ของคู่เงินที่ไม่มี USD

เรารู้ว่า pip value ของบัญชี 1 standard lot จะเท่ากับ 10 quote currency หรือ 1 mini lot จะเท่ากับ 1 quote currency และ 1 micro lot จะเท่ากับ 0.1 quote currency ดังนั้นหน้าที่ของคุณคือ ต้องแปลงค่าเงินของ quote currency มาเป็น USD ที่เป็นสกุลเงินในบัญชีของคุณ

ตัวอย่างเช่น คุณเปิดบัญชีกับโบรกเกอร์ ด้วยสกุลเงิน USD และเข้าซื้อ/ขาย คู่เงิน EUR/GBP และอัตราแลกเปลี่ยน USD/GBP คือ 0.7600 จะหาค่า pip value ในหน่วยของ USD ได้ดังนี้

ประเภทบัญชี Pip value EUR/GBP แปลงค่า pip value มาเป็นหน่วย USD
standard 10 GBP 10/0.76 = 13.158
mini 1 GBP 1/0.76 = 1.3158
micro 0.1 GBP 0.1/0.76 = 0.13158

# การคำนวณค่า pip value สำหรับคู่เงินที่มีเงินสกุล JPY

หน่วยที่เล็กที่สุดสำหรับคู่เงินที่มี JPY ประกอบอยู่ มีค่าเท่ากับ 0.01 สมมติว่าคุณจะทำการซื้อ/ขายคู่เงิน USD/JPY ในราคา 100.50 ในบัญชี standard

ค่า pip value = 0.01x1x100000 = 1000 yen

แปลงเป็นดอลลาร์สหรัฐ จะได้ 1000/100.5 = 9.95 USD

ในคู่เงินต่าง ๆที่มีเงินดอลลาร์สหรัฐเป็น quote currency (เงินตัวที่สองของคู่) ในบัญชี standard คุณจำได้เลยว่า ค่า pip value ของ 1 standard lot จะเป็น 10 USD ส่วนในบัญชี mini ค่า pip value ของ 1 mini lot จะเท่ากับ 1 USD และในบัญชี micro ค่า pip value ของ 1 micro lot จะเท่ากับ 0.1 USD คือ 10 cent นั่นเอง หากมีบัญชีที่เล็กกว่านี้ เช่นบัญชี nano ดังนั้น 1 nano lot จะเท่ากับ 1 penny ต่อ pip

วิธีการคำนวณกำไร ขาดทุน

ตอนนี้เรามาดู วิธีการคำนวณกำไร ขาดทุน โดยลองใช้คู่เงินที่ไม่มีเงินดอลลาร์สหรัฐเป็น quote currency เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เป็นสกุลเงินที่เข้าใจยากกว่า

1 หากอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับ USD/CHF เป็น bid 0.9191/ask 0.9195 สมมติว่าเราต้องการขายคู่นี้ USD/CHF ซึ่งหมายความว่าเราจะทำงานกับราคาbid ที่ 0.9191 ซึ่งเป็นอัตราที่ตลาดพร้อมจะรับซื้อจากคุณ

2 และดังนั้นคุณก็ทำการขาย 1 standard lot คือ 100000 หน่วย ที่ราคา 0.9191

3 หลายวันต่อมา ราคาก็เปลี่ยนไปเป็น bid 0.9191/ask 0.9095 ทำให้คุณตัดสินใจว่าจะทำกำไรที่ 96 pips และจำนวนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเท่าไรกัน

4 ราคาใหม่ของ USD/CHF เป็น bid 0.9191/ask 0.9095 และเนื่องจากเรากำลังจะปิดคำสั่งขาย ดังนั้นคุณกำลังทำงานกับราคา ask 0.9095 นั่นแปลว่าเป็น ราคาตลาดยินดีที่จะขายคู่สกุลนี้ให้คุณ คือราคาที่คุณจะสามารถซื้อคืนได้

5 ความแตกต่างระหว่างราคาที่คุณเปิดคำสั่งขาย short ที่ 0.9191 และราคาที่ซื้อคืนที่ 0.9095 คือ 0.9191-0.9095 = 0.0096 คือ 96 pips นั่นเอง

6 ใช้สูตรคำนวณจากด้านบน จะได้ (0.0001/0.9095)x100000 = 10.99 USD/pip

7 คิดเป็นกำไร = 10.99×96 = 1055.04 USD

กรณีที่คู่เงินนั้นมี ดอลลาร์สหรัฐเป็น quote currency การคำนวณกำไร ขาดทุน นั้นทำได้ง่ายมาก คือเพียงแค่นำ จำนวน pips ที่เปลี่ยนแปลงไปมาคูณกับ pip value ตามค่าในบัญชีต่าง ๆที่คุณเปิดเอาไว้คือ 10 USD/pip สำหรับบัญชี standard, 1 USD/pip สำหรับบัญชี mini และ 0.1 USD/pip สำหรับบัญชี micro

ตัวอย่างเช่น คุณเปิดคำสั่งซื้อ EUR/USD ที่ราคา 1.3200 และราคาเปลี่ยนไปเป็น 1.3100 และคุณต้องการปิดคำสั่งนี้ เพื่อหยุดการขาดทุน ที่จุดนี้คุณขาดทุนไป 100 pips

ถ้าคุณเทรด 1 standard lot คุณจะขาดทุน = 10$x100pips = 1000$

ถ้าคุณเทรด 1 mini lot คุณจะขาดทุน = 1$x100pips = 100$

ถ้าคุณเทรด 1 micro lot คุณจะขาดทุน = 0.1$x100pips = 10$

โปรดจำไว้เสมอว่า เมื่อคุณเข้า หรือออกจาการซื้อ/ขาย คุณต้องจัดการกับค่า spread ของการเสนอราคา bid/ask ดังนั้นเมื่อคุณจะซื้อคู่เงิน คุณต้องใช้ราคาเสนอขาย และเมื่อคุณจะขายคู่เงิน คุณต้องใช้ราคาเสนอซื้อ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *