ประวัติกางเกงยีนส์ ความเป็นมาก่อนเป็นแฟชั่นฮอทในตู้เสื้อผ้า

ประวัติกางเกงยีนส์ ความเป็นมาของแฟชั่นกางเกงยีนส์ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่ต้นกำเนิดของกางเกงยีนส์ที่สวมใส่โดยคนงานเหมือง ไปจนถึงคนที่มีสถานะสูงไปอีกระดับ ปฏิเสธไม่ได้ว่ากางเกงยีนส์เป็นแฟชั่นอันดับหนึ่งในตู้เสื้อผ้าของคนทั้งโลก ซึ่งความเป็นจริงแล้วยีนส์เป็นสินค้าแฟชั่นที่มีช่วงขาขึ้นและขาลง แต่ยังเป็นของใช้ยอดนิยมของคนมานานหลายทศวรรษ หากมองเข้าไปใน ประวัติกางเกงยีนส์ จะพบกับความประหลาดใจว่ากางเกงยีนส์สมัยคุณปู่นั้นแทบไม่คล้ายกับยีนส์ในปัจจุบันเลย อ้างได้ว่ากางเกงยีนส์เป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมอเมริกันที่ได้รับการตอบรับมากที่สุดในโลก มันเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าราวหนึ่งแสนล้านเหรียญสหรัฐต่อปี

ไทม์ไลน์ ประวัติกางเกงยีนส์

คศ. 1800 จุดประกาย

กางเกงที่เรียกว่า waist overalls ที่ตัดเย็บจากผ้าเนื้อหยาบหนา และทนทาน เป็นที่นิยมใส่ในกลุ่มคนใช้แรงงานชายที่ต้องทำงานสมบุกสมบัน เป็นกางเกงที่ออกแบบและตัดเย็บโดย จาคอบ เดวิส (Jacob Devis) แห่งเรโนเนวาดา โดยมีการเพิ่มหมุดโลหะที่กระเป๋า และเพิ่มกระดุมโลหะที่กางเกง เพื่อให้เกิดความทนทานเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้กางเกงที่เขาผลิตขึ้นมันไม่ทนทาน และฉีกขาดง่ายโดยเฉพาะบริเวณกระเป๋า การเพิ่มหมุดโลหะช่วยแก้ปัญหาให้กับกางเกงที่เขาผลิตได้เป็นอย่างดี เขาจึงตระหนักว่า เขาควรจะปกป้องความคิดของเขา และด้วยข้อจำกัดหลายประการต่อการดำเนินเรื่องเพื่อการจดสิทธิบัตรความคิดของเขา เขาจึงไปขอความช่วยเหลือการสนับสนุนด้านการเงินจากนักธุรกิจ ลีวาย สเตราส์ (Levi Strauss) เจ้าของร้านขายเครื่องนุ่งห่มหลายสาขา ชาวเยอรมัน จากนั้นกางเกงยีนส์สีน้ำเงินตัวแรกก็กำเนิดขึ้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 1873 สเตราส์ อยู่ในฐานะผู้ดำเนินธุรกิจ ในขณะที่จาคอบเป็นผู้ควบคุมการผลิต

คศ. 1890 ลีวาย 501 สุดยอดใน ประวัติกางเกงยีนส์

ลีวาย 501 ถูกออกแบบมาอย่างโดดเด่น เป็นครั้งแรกที่ยีนส์เริ่มย้ายออกจากกลุ่มแรงงาน เข้าสู่อ้อมกอดของเสื้อผ้าแฟชั่น ที่ใช้สวมใส่แบบสบาย ๆ ในชีวิตประจำวัน

ปี คศ. 1920-1930 ธุรกิจผลิตกางเกงยีนส์ของพวกเขาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มันกลายเป็นเสื้อผ้าที่ได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกา เป็นที่ชื่นชอบของคนงานในเหมือง คาวบอย และคนงานชายอาชีพอื่น ๆ ที่ต้องการเสื้อผ้าที่มีความทนทานต่อการสึกหรอ ยีนส์บนชั้นวางถูกขายออกไปอย่างรวดเร็ว ไม่ได้ชี้ว่าเขาเป็นเพียงผู้ผลิต และจำหน่ายกางเกงยีนส์เท่านั้น ในแง่การดำเนินธุรกิจ ลีวาย สเตราส์ ลดการนำเข้าชิ้นส่วนหลายอย่างจากต่างประเทศ ด้วยการผลิตมันขึ้นเองที่นั่น มันช่วยลดค่าใช้จ่ายก้อนโตออกไป ที่สำคัญคือเขาทำให้ยีนส์เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมได้อย่างมากมาย

นิตยสาร Vogue ให้ความสำคัญกับแฟชั่นผ้ายีนส์ โดยนำลงบนปกหน้า เพื่อสื่อให้เห็นว่ายีนส์ไม่สงวนไว้เฉพาะผู้ชายเท่านั้น ผู้หญิงก็ใส่มันได้สวยงามเช่นกัน เป็นการปฏิวัติแฟชั่นผู้หญิงให้ออกจากกรอบเดิม ๆ ที่เคยเป็นแต่กระโปรง และในช่วงนี้เช่นกันที่ แนวคิดดั้งเดิมของ จาคอบ เดวิส ที่ต้องการให้ยีนส์ เป็นกางเกงที่ใช้ได้จริงสำหรับคนทำงานหนัก เป็นการพลิก ประวัติกางเกงยีนส์ ที่ว่า ยีนส์ไม่ใช่สิ่งจำเป็นเฉพาะคนงานเท่านั้น มันจำเป็นกับคนทั่วไป โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว

คศ. 1936 สัญลักษณ์ธงแดง

ลีวาย สเตราส์ ได้เพิ่มแถบป้ายเล็ก ๆ สีแดง อันเป็นเอกลักษณ์ติดที่กระเป๋าด้านหลัง นี่นับเป็นครั้งแรกที่มีการนำแบรนด์ของนักออกแบบติดไว้ด้านนอกของผลิตภัณฑ์ สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับชื่อลีวายคือ ความซื่อสัตย์ และความทนทานของกางเกง นอกจากแถบสีแดงระบุชื่อ LEVI แล้ว ก่อนหน้านี้เขาเคยเพิ่มป้ายหนังที่ขอบบนด้านหลังของกางเกง ที่ระบุสิทธิบัตรไว้อย่างชัดเจน กับข้อความ ‘ไม่ใช่ของแท้ หากปราศจากป้ายนี้’

คศ. 1950 ชุดเก่งของ Bad Boy

กางเกงยีนส์กลายเป็นสัญลักษณ์แฟชั่น เมื่อสภาพสังคมวัยรุ่นในสหรัฐอเมริกาที่สะท้อนผ่านภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดที่แสดงโดย เจมส์ ดีน (James Dean) และ มารอน แบรนโด (Marlon Brando) ที่นิยมใส่ยีนส์ในภาพยนตร์ เป็นสัญลักษณ์ของ แบดบอย ที่ถูกแบนในโรงเรียนรัฐบาลบางแห่งในสหรัฐ ในช่วงนั้นนอกจากยีนส์สีน้ำเงินแล้ว ยีนส์สีดำก็ยังเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นชายอีกด้วย แบรนด์ยอดนิยมได้แก่ ลีวายส์ ลี คูเปอร์และแรงเลอร์

คศ. 1960 ชุดมาตรฐานของบุปผาชน

เป็นยุคเริ่มต้นของ ฮิปปี้ ที่เหล่าบุปผาชนจะเชิดชูความเป็นอิสระเสรี ไม่สนใจกฏเกณฑ์ เป็นทศวรรษที่มีการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ยีนส์สีนำ้เงินที่บุปผาชนนิยมใส่จึงถูกมองว่าเป็นตัวแทนของอิสรภาพจากเสื้อผ้าแบบเดิม ๆ ที่ไม่เป็นทางการ จึงมีการปรับปรุงการออกแบบให้มีโครงสร้างซับซ้อนขึ้น มีสีสรรสดใส รูปทรงหลากหลายขึ้น ทั้งส่วนที่เป็นสะโพก ก้น ในทศวรรษนี้เริ่มมีแจ็คเก็ตยีนส์ที่ตกแต่งด้วยสติ๊กเกอร์ผ้าที่เย็บติดกับตัวเสื้อ และทำให้กางเกงยีนส์ และเเจ็คเก็ตยีนส์เป็นชุดมาตรฐานของเหล่าบุปผาชน

คศ. 1970 จุดสูงสุดของยีนส์สีน้ำเงิน

กระแสการต่อต้านวัฒนธรรมเดิมที่เกิดขึ้นในทศวรรษก่อนยังคงดำเนินมาถึง 1970 แต่ช่วงนี้ยีนส์กลายเป็นสัญลักษณ์ของความสดใหม่ มีประโยชน์ และมีสุขภาพดี เริ่มมีกระโปรงยีนส์ และเสื้อยีนส์ ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นหญิง ช่วงยุค 60-70 นับว่าเป็นช่วงที่ยีนส์มาถึงจุดสูงสุด ยีนส์สีน้ำเงินประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวางทางด้านวัฒนธรรมที่เป็นสากลไปแล้ว ที่หากมีใคร ณ มุมหนึ่งมุมใดในโลก กำลังกล่าวถึงอเมริกา สิ่งแรกที่เขาจะนึกถึงได้ทันทีคือ กางเกงยีนส์

คศ. 1980 แฟชั่นสากล

เป็นทศวรรษที่เกิดดีไซน์เนอร์ยีนส์เกิดขึ้น เมื่อมีการนำผ้ายีนส์มาออกแบบอย่างกว้างขวาง ผ้ายีนส์กลายเป็นวัสดุที่อยู่ในใจของนักออกแบบชั้นนำของแบรนด์ต่าง ๆ ทั้ง Calvin Klein, Jordache และ Cloria Vanderbilt มีความพยายามที่จะทำลายเนื้อผ้าบางส่วนของยีนส์ด้วยการขัดด้วยหิน แช่กรด หรือทำให้บางส่วนฉีกขาดจนดูเก่า แต่กลับไปเพิ่มมูลค่าให้กางเกงยีนส์มากมาย ซึ่งเป็นที่ต้องการมากที่สุด การออกแบบรูปทรงที่มีขากางเกงที่เรียวลงไปถึงข้อเท้า เป็นที่นิยมมากขึ้น และในทศวรรษนี้ผู้ชายเริ่มปรากฏตัวในโฆษณากางเกงยีนส์มากขึ้น

คศ. 1990 Baggy Jeans ในหนุ่มฮิปสเตอร์

เป็นทศวรรษที่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง กางเกงยีนส์ถูกมองว่าเป็นเครื่องแต่งตัวสไตล์ลำลองมากขึ้น มีการออกแบบให้มีกระเป๋าเพิ่มขึ้น การแต่งกายด้วยผ้ายีนส์ตั้งแต่หัวจรดเท้าเป็นที่นิยมอย่างมาก ยีนส์ขาสั้นได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้หญิงวัยรุ่น ในขณะที่กระแสฮิปฮอปกำลังมาแรง ผู้ชายจึงนิยมใส่ยีนส์ที่เรียกว่า Baggy Jeans

คศ. 2000 ฟื้นฟูยีนส์ทรงเก่า

ช่วงต้นทศวรรษยีนส์ทรงเก่า ๆ กับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ตามกระแสดาราเพลงป๊อปอย่างบริทนีย์ สเปียร์ และคริสติน่า อากีเลร่า ที่สวมยีนส์กับรองเท้าบูท ในช่วงกลางทศวรรษเป็นต้นมามีการฟื้นฟูยีนส์รัดรูป โดยใช้เทคโนโลยีผลิตผ้ายีนส์ที่ยืดหยุ่นได้ มีแบรนด์ใหม่ ๆ ให้เป็นทางเลือกเช่น เซเว่น หรือ ฮัดสัน

คศ. 2010 เป็นต้นมา

ยีนส์ได้รับการออกแบบมาอย่างหลากหลาย มีการออกแบบให้มีเอวสูง ขาตรง เพื่อให้ดูว่ามีช่วงขาที่เรียวยาวขึ้น เน้นกระชับบริเวณสะโพก ต้นขา และข้อเท้า ทำให้สัดส่วนของผู้สวมใส่ดูโดดเด่นขึ้น ทั้งนี้มันเป็นสไตล์ที่ลุกลามไปถึงเสื้อที่จะใช้สวมใส่ได้เข้ากับกางเกงยีนส์ ที่ต้องการความกระชับเน้นรูปร่าง ซึ่งเสื้อคลุมหลวม ๆ ไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป เข้ากับยุคสมัยที่ต้องการความคล่องตัวในการทำกิจกรรมต่าง ๆ

กางเกงยีนส์ที่ถูกทำให้ซีดจาง หรือฉีกขาดเล็กน้อย ยังคงได้รับความนิยมต่อไป ซึ่งแบรนด์ต่าง ๆ พยายามหาเทคนิคเฉพาะตัว ที่จะทำให้ได้ยีนส์ตรงตามความต้องการของผู้สวมใส่

ความคลั่งไคล้ต่อยีนส์ กับความง่ายในการทำธุรกิจทางอินเตอร์เน็ต ทำให้เกิดแบรนด์ใหม่ ๆ ที่เป็นอินดี้แบรนด์ขึ้นมากมายทั่วทุกมุมโลก นักออกแบบที่ชาญฉลาดจะยึดโยงเทคนิคเฉพาะตัว ให้เข้ากับความต้องการเฉพาะกลุ่ม และสร้างรูปแบบยีนส์ใหม่ ๆ ออกมาให้ตรงกับความต้องการของผู้สวมใส่

ทิ้งท้าย ประวัติกางเกงยีนส์

จะมีคนสักกี่คนที่ก่อนตายจาก ได้ฝากผลงานที่ยั่งยืนอยูได้ในหลายทศวรรษต่อมา นอกจากจะเป็นสิ่งที่ใคร ๆ ก็รู้จัก และนิยมใช้มัน ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น มันคือ ความคิด โอกาส การแสวงหา การไขว่คว้า ความอดทน ความซื่อสัตย์ อมตะ และเหนือกาลเวลา มันมีคุณค่า และเป็นสิ่งที่ควรมีไว้ ยีนส์ใน ประวัติกางเกงยีนส์ ที่แม้ว่าวันเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานเพียงใด เชื่อได้ว่ามันจะยังคงเป็นอีกหนึ่งอย่าง ที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนทั่วไปไม่ช่วงใดก็ช่วงหนึ่งของชีวิต

One thought on “ประวัติกางเกงยีนส์ ความเป็นมาก่อนเป็นแฟชั่นฮอทในตู้เสื้อผ้า

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *